HoonSmart.com>> “ทริสเรทติ้ง” ลดอันดับเครดิตองค์กร “ถิรไทย” เป็นระดับ “BB+” จากเดิม “BBB-” แนวโน้มอันดับเครดิตคงที่ สะท้อนการแข่งขันอุตสาหกรรมผลิตหม้อไฟรุนแรง สถานะการเงินถดถอยต่อเนื่อง
บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ปรับลดอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ถิรไทย (TRT) เป็นระดับ “BB+” จากเดิมที่ระดับ “BBB-” ซึ่งอันดับเครดิตที่ลดลงสะท้อนถึงความสามารถในการแข่งขันและสถานะทางการเงินของบริษัทที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแนวโน้มที่น่ากังวลของอุตสาหกรรมการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า
พร้อมทั้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะในการแข่งขันในตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าในประเทศต่อไปได้ ตลอดจนได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดฟื้นตัว นอกจากนี้ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะส่งผลให้อัตรากำไรจากการดำเนินงานค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น
อันดับเครดิตสะท้อนประวัติผลงานที่ยาวนานของบริษัทในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า ตลอดจนความสามารถในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังและหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายที่มีกำลังไฟฟ้าและแรงดันไฟฟ้าที่หลากหลาย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวลดทอนลงไปอย่างมีนัยสำคัญสืบเนื่องจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงจากผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ารายอื่นทั้งที่เป็นผู้ผลิตในต่างประเทศและในประเทศ รวมถึงการที่บริษัทไม่มีความสามารถในการควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและมีกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่ยังคงอ่อนแอ
ทริส มองว่า แม้บริษัทจะเป็นหนึ่งในผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้ากำลังเพียงไม่กี่รายที่ครองตลาดในประเทศ แต่ความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก็ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากผู้ผลิตในประเทศจีนที่มีลิขสิทธิ์จากบริษัทที่มีชื่อเสียงไม่ว่าจะเป็น ABB หรือ Siemens การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงส่งผลกดดันอย่างต่อเนื่องจนทำให้บริษัทจำเป็นต้องลดราคาสินค้าลงเพื่อให้ได้คำสั่งซื้อจากลูกค้า
ในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายนั้น การเข้าสู่ตลาดทำได้ง่ายกว่าหม้อแปลงไฟฟ้ากำลัง ปัจจุบันมีผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายในประเทศมากกว่า 20 ราย ซึ่งส่งผลให้ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายมีการแข่งขันในด้านราคาที่มากยิ่งกว่า
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทในการจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าซึ่งเคยอยู่ที่ระดับ 20%-23% ในช่วงปี 2555-2557 นั้นหดตัวลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 18% ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสถานะความได้เปรียบในการแข่งขันของบริษัทเริ่มลดลง
ท่ามกลางผลกระทบในด้านลบจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมผลิตหม้อแปลงไฟฟ้า บริษัทหวังว่าจะมีความได้เปรียบจากหลักเกณฑ์ใหม่ในการประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งให้ความสำคัญต่อคุณภาพสินค้า (60%) มากกว่าราคา (40%) ทั้งนี้ ด้วยความเชี่ยวชาญในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าประกอบกับการมีสินค้าที่มีคุณภาพสูงจะส่งผลให้บริษัทมีโอกาสในการชนะการประมูลงานมากขึ้น
สำหรับแนวโน้มการหดตัวของธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้า ทริสเรทติ้งได้ปรับลดมุมมองที่มีต่อตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศลง ทั้งนี้ อุปสงค์ของหม้อแปลงไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการขยายตัวของโครงสร้างไฟฟ้าพื้นฐานเป็นหลักซึ่งรวมถึงกำลังการผลิตติดตั้ง การขยายตัวของระบบสายส่งไฟฟ้า และการเติบโตของการลงทุนภาคเอกชนทั้งในส่วนของภาคอุตสาหกรรมและภาคครัวเรือน ในการนี้ ทริสเรทติ้งมองว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อัตราการเติบโตอยู่ในระดับต่ำ
ผู้ผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าภายในประเทศยังต้องเผชิญกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการประมูลงานของหน่วยงานภาครัฐด้านไฟฟ้าที่ล่าช้าอยู่ต่อไป ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ใช้เวลานาน ในขณะที่การลงทุนของภาคเอกชนก็ยังคงซบเซา ในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 การลงทุนของทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยเติบโตอยู่ที่ระดับเพียง 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามเพื่อที่จะลดผลกระทบจากยอดจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้าที่ตกต่ำลง บริษัทจึงได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจอื่น ๆ อาทิ ธุรกิจประกอบรถยกไฮดรอลิก ธุรกิจเหล็กแปรรูป และธุรกิจรับจ้างดำเนินงานและซ่อมบำรุง โดยผ่านการดำเนินงานของบริษัทย่อยด้วยอีกทางหนึ่ง ธุรกิจอื่นนอกเหนือจากธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้ามีสัดส่วนรายได้อยู่ที่ระดับ 30% ของรายได้รวมของบริษัทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทริสเรทติ้งมีความเห็นว่าการขยายไปสู่ธุรกิจด้านอื่นนั้นยังให้ผลตอบแทนที่ไม่เพียงพอเนื่องจากบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะขาดทุนของบริษัทย่อยบางแห่งอยู่
นอกจากนี้ความสามารถในการทำกำไรตึงตัว บริษัทมีผลประกอบการขาดทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในปี 2560 และปี 2561 เนื่องจากไม่สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่อยู่ในระดับสูงได้ นอกจากนี้ ในปี 2562 บริษัทยังมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถฟื้นฟูผลกำไรได้อีกด้วย โดยยอดขายทั้งปีน่าจะต่ำกว่าเป้าหมาย ทั้งนี้ ยอดขายและอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ต่ำกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ โดยในช่วงครึ่งปีแรกบริษัทมียอดขายอยู่ที่ 1 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 35% ของยอดขายที่คาดการณ์ไว้ทั้งปี และมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับ 5.2% ซึ่งน้อยกว่าที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 7%
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2562 จะอยู่ที่ระดับ 2.3 พันล้านบาทจากที่บริษัทมียอดขายที่รอการส่งมอบจำนวน 1.7 พันล้านบาท ณ เดือนมิถุนายน 2562 อัตรากำไรจากการดำเนินงานน่าจะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.6% ทริสเรทติ้งประมาณการว่าหากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านไฟฟ้าสามารถเปิดประมูลได้ตามปกติและการลงทุนของภาคเอกชนฟื้นตัวแล้ว รายได้ของบริษัทก็น่าจะเติบโตที่ระดับประมาณ 2.2-2.4 พันล้านบาทต่อปีในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ซึ่งในช่วงปีประมาณการดังกล่าว
ทริสเรทติ้งปรับลดประมาณการอัตรากำไรขั้นต้นโดยรวมของบริษัทลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 20%-22% โดยมีผลกระทบจากการแข่งขันที่ยังอยู่ในระดับสูงและธุรกิจรับจ้างดำเนินงานและซ่อมบำรุง (O&M) ของบริษัทที่ได้อัตรากำไรในระดับสูงจะสิ้นสุดการดำเนินงานในช่วงสิ้นปี 2562 บริษัทยังมีแผนการที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ที่ระดับประมาณ 7%-8% ในช่วงปี 2563-2565
ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 30 ล้านบาทในปี 2562 ทั้งนี้ เงินทุนจากการดำเนินงานสามารถปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100-200 ล้านบาทต่อปีได้ในช่วงปี 2563-2565 อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้จะยังคงอ่อนแอ อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินคาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 9%-10% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายน่าจะคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 เท่า
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตคาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นในช่วงเวลาอันสั้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในกรณีที่บริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้เป็นอย่างมากจากความสามารถในการทำกำไรที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลทำให้กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีสาระสำคัญและอย่างต่อเนื่องโดยที่อัตรากำไรจากการดำเนินงานอยู่ในระดับเกินกว่า 8% รวมถึงอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ในระดับสูงกว่า 13% และอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ในระดับเกินกว่า 3 เท่า
ในทางกลับกัน การปรับลดอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากผลประกอบการของบริษัทยังคงอ่อนแอลงต่อไปซึ่งอาจเป็นไปได้หากบริษัทมีผลประกอบการขาดทุนจากกำไรขั้นต้นที่ลดลงและไม่สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้ตามแผน