ตลท.เซ็น MOU กฟผ.ศึกษาแพลตฟอร์ม ตลาดซื้อขายไฟฟ้าอาเซียน

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เซ็น MOU กฟผ. ร่วมมือพัฒนาสินค้าหรือแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่งประเทศเพื่อนบ้าน   กำหนดเวลาศึกษา 1 ปี ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางไฟฟ้าอาเซียน

นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ตลท.ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อศึกษาการพัฒนาสินค้าหรือแพลตฟอร์มที่มีความน่าเชื่อถือรองรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market) เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางการซื้อขายไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียนในอนาคต

“ตลาดร่วมทำงานกับทุกภาคส่วน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตลาดทุน พัฒนาสินค้าและบริการที่สอดรับกับตลาดโลก พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ การทำงานร่วมกับกฟผ.เล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีกลไกเพื่อการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งต่อผู้ผลิตและผู้ใช้”นายศรพลกล่าว

นางภาวนา อังคณานุวัฒน์ รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ. กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมในการทำตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่งรูปแบบใหม่ผ่านแพลตฟอร์มการซื้อขาย ได้แก่ แบบ Capacity Market ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายกำลังผลิตล่วงหน้าระยะ 3-5 ปี และแบบ Energy Market ซึ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้ารายวัน เพื่อรองรับสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในภูมิภาค  เตรียมความพร้อมรับการเปิดตลาดเสรี เพื่อส่งเสริมการแข่งขันในกิจการไฟฟ้า ปัจจุบันประเทศไทยมีการซื้อขายไฟฟ้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ประเทศมาเลเซีย และขายไฟให้กับกัมพูชา

นอกจากนี้กรอบความร่วมมือครอบคลุมการศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาตลาดซื้อขายไฟฟ้าในระดับขายส่ง (Wholesale Electricity Market Trading Platform) โมเดลอุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้า กลไกการซื้อขายไฟฟ้า และการพัฒนาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าล่วงหน้าและระหว่างวันในระดับขายส่ง ความร่วมมือของทั้งสององค์กรถือเป็นการเริ่มต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าโดยใช้กลไกของระบบตลาดเป็นตัวผลักดัน ทำให้เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการไฟฟ้า  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ

รองผู้ว่าการบริหาร กฟผ.กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง ตลท.และ กฟผ.กำหนดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.2562-3 ก.ย.2563 โดยทั้งสองฝ่ายตั้งคณะทำงานทำงานร่วมกันในการศึกษาและพัฒนาโมเดลอุตสาหกรรมกิจการไฟฟ้าสำหรับตลาดซื้อขายไฟฟ้าระดับขายส่ง การสนับสนุนข้อมูล พร้อมแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา เป็นต้น

“รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนเรื่องความร่วมมือในการใช้ศักยภาพด้านพลังงานในกลุ่มอาเซียน ประเทศไหนมีเหลือก็ขายให้ประเทศที่มีความต้องการ  กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจ ต้องเตรียมความพร้อม และมองว่าเป็นโอกาส   การขายไฟให้เพื่อนบ้านจะสร้างรายได้กลับเข้าประเทศ “นางภาวนากล่าว