เตือน GULF แพงไปไหม? โรงไฟฟ้าพลังน้ำลาว 2,500 MW ยังไม่จบ 100%

HoonSmart.com>>ตอนนี้เกิดคำถามว่าหุ้นบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) แพงเกินไปหรือไม่ หลังจากราคาหุ้นวิ่งขึ้นมาเร็วและแรงต่อเนื่อง วันที่ 2 ก.ย. 2562 สร้างสถิติสูงสุดใหม่ หรือ all time high นับตั้งแต่วันที่นำบริษัทเข้าจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2560 ในราคาไอพีโอ 45 บาท 

“ใครกล้าเข้าไปซื้อหุ้น GULF ในราคา 158.50 บาท/หุ้น ยอมจ่ายแพงกว่าไอพีโอกว่า 3 เท่าตัว และสูงกว่าราคากลางที่นักวิเคราะห์ 7 ราย ตีมูลค่าเหมาะสมไว้ที่ 96 บาท ต้องเตรียมตัวเตรียมใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ ”

ขณะที่ บล.เอเซียพลัสวิเคราะห์หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าคงน้ำหนักการลงทุน “เท่ากับตลาด” แต่แนะนำขาย GULFและบริษัท ซีเค พาวเวอร์ (CKP) เนื่องจากราคาขึ้นมาสูงกว่ามูลค่าเหมาสมที่ 98 บาท และ 5.60 บาท รวมถึง P/E สูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ทั้งในไทยและภูมิภาค ที่ 82 และ 67 เท่า ตามลําดับ แนะนำซื้อบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) มูลค่าเหมาะสม 40 บาท บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) มูลค่า 74.50 บาท

วันที่ 2 ก.ย.62 นักลงทุนให้ความสนใจหุ้น GULF ตั้งแต่เช้า เมื่อได้รับข้อมูลจาก “ยุพาพิน วังวิวัฒน์” กรรมการบริหาร และ “รัฐพล ชื่มสมจิตต์ ” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทในงานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน โดย ยุพาพิน เล่าให้ฟังถึงผลการดำเนินงานในครึ่งปีแรกที่เติบโต เกิดจากโครงการที่เปิดดำเนินการเพิ่มขึ้น 637 เมกะวัตต์ (MW) จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5,919 MW ขณะเดียวกันไตรมาส 2 มีกำไรจากอัตราเแลกเปลี่ยน จากการแข็งของค่าเงินบาทจากระดับ 31.9 บาท/ดอลลาร์ในไตรมาส 1 เป็น 30.92 บาทในไตรมาส 2

นอกจากนี้บริษัทยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา  เช่น โครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 2 แห่ง กำลังการผลิตรวม 5,000 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการ GSRC ตั้งอยู่ในอ.ศรีราชา จ.ชลบุรี กำลังการผลิตรวม 2,650 เมกะวัตต์ บริษัทถือหุ้น 70% ปัจจุบันการก่อสร้าง คืบหน้าแล้ว 30-40% คาดว่าจะสามารถเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) ได้ในช่วงปี 2564 -2565 เซ็นสัญญาซื้อขายไฟกับกฟผ. 25 ปี และโครงการ GPD ที่ตั้งอยู่ใน จ.ระยอง กำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจากู้เงินระยะยาว 3.6 หมื่นล้านบาท กู้เงินสกุลเงินบาทและดอลลาร์อย่างละ 50% คาดว่าจะ COD ได้ในปี 2566-2567

ส่วนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ บริษัทได้เจรจากับพันธมิตรจีน ที่เป็นเจ้าของสัมปทาน เขื่อน 3 เขื่อนในประเทศลาว เพื่อร่วมลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต 2,500 เมกะวัตต์ เบื้องต้นบริษัทจะถือหุ้นในสัดส่วน 30-35% คาดว่าจะได้ข้อสรุปของแผนลงทุนภายในปี 2563

“เราคุยกับพาร์ทเนอร์จีน ถือว่าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่มาก เพราะการลงทุนโรงไฟฟ้าจากเขื่อนใช้เงินลงทุนมากกว่าโรงไฟฟ้าแก๊สถึง 3.5 เท่า  ขนาด 2,500  MW ต้องใช้เงินลงทุนสำหรับการผลิตไฟฟ้าจากแก๊สถึง 8,000-9000  MW ตอนนี้เรายังไม่ได้โครงการ 100% จะต้องเอามาขายไฟให้กับประเทศไทย” รัฐพล กล่าว

ส่วนการลงทุนในเวียดนาม บริษัทมีแผนการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้า ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตรวม 6,000 เมกะวัตต์  พร้อมกับการต่อยอดไปสู่ธุรกิจซื้อขายก๊าซ LNG  เสนอรัฐบาลเวียดนามไปแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในปี 2563   ขณะเดียวกันในประเทศไทย บริษัทร่วมกับปตท. ทำ  LNG เทอร์มินัล  เพื่อต่อยอดการใช้ LNG ในการผลิตไฟฟ้า

นอกจากนี้ยังมีการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม เวียดนาม เซ็น PPA กับการไฟฟ้าเวียดนามแล้ว เฟสแรก 30 MW  ขายไฟ 20 ปี ส่วนเฟส 2-6 เฟลละ 49 MW และเฟส 7 จำนวน 35 MW คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างไตรมาส 4 ใช้เวลา 14-16 เดือน เฟสแรกเริ่ม COD ต้นปี 2564 นอกจากนี้ โครงการที่ลงทุนไปแล้ว มีการเพิ่มสัดส่วนการลงทุน เช่น TTCIZ-01 จาก 49% เป็น 90% TTCIZ-02 ก็เพิ่มจาก 49% เป็น 90% โครงการแม่โขง  วิน พาวเวอร์ 310 MW จาก 49% เป็น 95%

โครงการที่โอมาน เข้าไปลงทุน โรงไฟฟ้าพลังงานแก๊ส 326 MW บริษัทถือ 45% ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ เซ็นสัญญาขายไฟและน้ำจืดให้โรงกลั่น 25 ปี สร้างแล้ว 38% คาดเปิดดำเนินการปี 2564-2565 แบ่งตามเฟส ในอนาคตโรงกลั่นก็จะมีโรงปิโตรเคมีตามมา บริษัทจะได้สัญญาเพิ่มเติมเหมือนมาบตาพุด

บริษัทวางแผนลงทุนระยะยาว เป็น 10 ปี โดยแผนงานในปี 2562-2567 กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นจะเติบโตเฉลี่ย 20.7% จากระดับ 2,253 MW ในปี 2561 เพิ่มเป็น 6,906 MW ในปี 2567 โดยมีสัญญาซื้อขายไฟแล้ว 11,910 MW เปิดแล้ว 5,919 MW เติบโตตาม IPP โรงไฟฟ้าเวียดนาม และ โอมาน

นอกจากนี้บริษัทยังมีการยื่นประมูลโครงการสาธาณูปโภค ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 , มาบตาพุดเฟส 3 และมอเตอร์เวย์

โครงการมาบตาพุดเฟส 3 บริษัทฯ ถือหุ้น 70% ใช้เงินลงทุนเกือบ 1.3 หมื่นล้านบาท ได้รับผลตอบแทนในรูปของค่าบริการจากเอกชนมาใช้ประโยชน์ สร้างคลัง LNG 5-8 ล้านตันต่อปี ในเฟส 1 และ 2 ใช้เวลาก่อสร้าง ปี 2566-2570 โครงการอยู่ระหว่างการเข้าครม.ปลายเดือนก.ย. คาดเซ็นสัญญาได้ในเดือนต.ค.นี้

ส่วนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง 3 บริษัทถือ 40% ถมทะล 3 ปี ท่าที่จอดเรือน้ำลึก 18.5 เมตร ลึกที่สุด รองรับอย่างน้อย 4 ล้าน TEU/ ปี เซ็นสัญญากับการท่าเรือแห่งประเทศไทย 35 ปี ทะเลมีความลึก 18.5 เมตร ลึกที่สุด รองรับเรือขนาดใหญ่เข้าตรงได้ ไม่ต้องเปลี่ยนเรือที่สิงคโปร์ ใช้เงินลงทุน 3 หมื่นล้านบาทใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี เปิดเฟสแรกปี 2566  ส่วนเฟส 2 เปิดปี 2570

โครงการมอเตอร์เวย์ บริษัทฯ ถือหุ้น 40% ร่วมกับบีทีเอส 40% ส่วนที่เหลือมี STEC, RATCH ถือฝ่ายละ 10% มี 2 สาย สวยแรก M6 บางปะอิน- นครราชสีมา ปี 2563-2566 ใช้เงินลงทุน 3.32 หมื่นล้านบาท ระยะทาง196 กิโลเมตร สัมปทาน 30 ปี และสายบางใหญ่ กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กิโลเมตร ใช้เงินลงทุน 2.78 หมื่นล้านบาท

“มอเตอร์เวย์ คาดเข้าครม.เดือนม.ค.ปี 2563 เราเสนอราคาต่ำสุด ให้ส่วนลด 36% จากราคากลาง เหตุผลที่เราเสนอราคาค่อนข้างต่ำได้ เพราะคิดว่าเรามีศักยภาพในการหาเงินที่มีต้นทุนต่ำ จากประสบการณ์ในการจัดหาเงินกู้ให้กับโรงไฟฟ้ามามากกว่า 30 โรง ถือว่าเป็นจุดแข็งของเราและยังคาดว่าจะประหยัดต้นทุนในการดำเนินงานได้ จากการนำเทคโนโลยีจากต่างประเทศมาใช้  เช่นที่ไต้หวัน ประสบความสำเร็จแล้ว  ไม่มีด่านเก็บเงินขาเข้า ไม่มีคนไม่ต้องรับบัตร จะเก็บปลายทาง ช่วยลดจำนวนพนักงานมหาศาล ทำให้เรามีข้อได้เปรียบจากมาตรฐานปกติ”รัฐพล กล่าว

ปัจจุบัน บริษัทมีสัดส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E)1.77 เท่า เพิ่มเล็กน้อยจากสิ้นธ.ค.ปีก่อนอยู่ที่ 1.76 เท่า หากคิดเฉพาะหนี้ที่มีภาระดอกเบี้ยสัดส่วนอยู่ที่ 1.63 เท่า

“รัฐพล” กล่าวทิ้งท้ายว่า หลังจากปี 2567 กัลฟ์ฯ วางแผนที่จะลงทุนโครงการใหญ่ขึ้น และต่อยอดโครงการที่ลงทุน เช่น การใช้ LNG มาผลิตไฟฟ้า ที่เมืองไทยทำ LNG เทอร์มินัล   ที่เวียดนามจะขาย LNG  ขณะเดียวกัน เดินหน้าโรงไฟฟ้าที่ลาว เวียดนาม โอมาน และโครงการสาธารณูปโภค ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ และครึ่งแรกปี 2563 จะมีโครงการเข้ามาอีกพอสมควร  ในอนาคตรายได้จากสาธารณูปโภค ไม่น่าจะเกิน 20% ธุรกิจใหญ่คือโรงไฟฟ้า