ASP คาดหุ้นก.ย.ไม่สดใส แนะซื้อ 6 ตัว เตือนหลีกเลี่ยง GULF-CKP ราคาโอเวอร์

HoonSmart.com>>บล.เอเซียพลัสออกบทวิเคราะห์ตลาดหุ้นเดือนก.ย.คาดผันผวน ดัชนีแกว่งในช่วง 1,600-1,650 จุด กลยุทธ์เลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยบวก  AMATA, MCS, PTT, ROBINS, TASCO , TU ขณะที่ CKP, GULF ราคาเกินพื้นฐานไปมาก สงครามการค้ายืดเยื้อ กดดัน 4 ธนาคารกลางสำคัญที่นัดประชุมในเดือนนี้ ผ่อนคลายนโยบายการเงิน คาดต่างชาติขายหุ้นไทยต่อ  หั่นเป้ากำไรบจ.ปีนี้ลง 2.7%  

บล.เอเซียพลัส (ASP) ออกบทวิเคราะห์การลงทุนในเดือนก.ย. 2562 คาดดัชนีหุ้นผันผวนในช่วง 1,600-1,655 จุด กลยุทธ์เลือกซื้อหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว แนะนำ AMATA, MCS, PTT, ROBINS, TASCO และ TU ขณะที่ CKP, GULF ราคาเกินพื้นฐานไปมาก ควรหลีกเลี่ยงเพื่อลดความเสี่ยง  ส่วนดอกเบี้ยที่อยู่ในทิศทางลง ทําให้การลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนโดดเด่น สามารถเลือกที่มีอายุยาวขึ้น แต่ไม่ควรเกิน 3 ปี

สำหรับพอร์ตการลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ในระดับปานกลาง แนะนําจัดสรรเงินในหุ้นไทย 40% หุ้นต่างประเทศ 15% ตราสารหนี้ 35%

ในเดือนก.ย. จะมีการประชุมธนาคารกลางสำคัญ 4 แห่ง คือ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED)จะประชุมวันที่ 17-18 ก.ย. ตลาดเชื่อมั่น 100% ว่าจะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ถ้าหากส่งสัญญาณว่าช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้าจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเชื่อว่าจะเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลก ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)จะมีการประชุมวันที่ 18-19 ก.ย. คาดว่าจะยังคงดอกเบี้ยตํ่าที่ -0.1% ต่อไป เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ตลาดคาดว่าน่าจะยังคงดอกเบี้ยตํ่าที่ 0.75%

ส่วนธนาคารกลางยุโรป ( ECB) คาดว่ามีโอกาสสูงที่จะลดดอกเบี้ยลงจากเดิมที่อยู่ที่ระดับ 0% และกลับมาดําเนินมาตรการ QE หรือการเข้าซื้อพันธบัตรอีกครั้งหนึ่ง คล้ายกับที่เคยทําในอดีตช่วงไตรมาส 1/2558 ถึงไตรมาส 4/2561 วงเงินในการเข้าซื้อรวม 1.5-8 พันล้านยูโร เพื่อพยุงเศรษฐกิจยุโรปช่วงครึ่งปีหลังที่เผชิญความเสี่ยงจากปัญหาการเมืองของประเทศสมาชิก อาทิ ความไม่แน่นอนทางการเมืองของอิตาลี

นอกจากนี้ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ในแถบเอเซียก็มีกําหนดประชุมธนาคารกลางในเดือน ก.ย. เริ่มตั้งแต่ 12 ก.ย. ธนาคารกลางมาเลเซีย  19 ก.ย. ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตลาดคาดว่ารอบนี้น่าจะยังไม่ลดดอกเบี้ย แต่มีโอกาสจะผ่อนคลายนโยบายการเงินในช่วงที่เหลือของปี ส่วนของไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จะมีการประชุมวันที่ 25 ก.ย. คาดว่ายังไม่ลดดอกเบี้ยในรอบนี้ แต่เชื่อว่ายังมีโอกาสลดดอกเบี้ยอีกครั้งหนึ่งราว 0.25% อยู่ที่ 1.25%ในช่วงปลายปี ซึ่งจะเป็นระดับตํ่าสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากยังมีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายกับเงินเฟ้ออยู่ราว 0.6% เพื่อรองรับเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงจะเติบโต ตํ่ากว่าคาดในช่วงครึ่งปีหลัง

ขณะเดียวกันจีนยังมีโอกาสพิจารณาขายพันธบัตรสหรัฐที่ถือครองไว้ ปัจจุบันจีนเป็นผู้ถือพันธบัตรสหรัฐอันดับ 2 โดยถือ ไว้ราว 1.1 ล้านล้านเหรียญ หรือราว 16.8% ของประเทศที่ถือโดยต่างชาติ โดยญี่ปุ่นถือมากที่สุด ราว 1.12 ล้านล้านเหรียญ หรือ 17%

การลงทุนในตลาดหุ้นในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา เป็นเดือนที่ต่างชาติขายหุ้นในภูมิภาคสูงสุด มีมูลค่ารวมกว่า 8,200 ล้านเหรียญ และเป็นการขายสุทธิทั้ง 5 ประเทศ โดยตลาดหุ้นไทยถูกขายสุทธิ 1,700 ล้านเหรียญ หรือ 3.41 หมื่นล้านบาท คาดว่ายังขายต่อเนื่องในเดือนก.ย.ผลจาก FTSE Russell ได้ปรับนํ้าหนักรอบนี้ (มีผล 20 ก.ย.) เพิ่มนํ้าหนักหุ้นหลายๆ ประเทศเข้ามาคํานวณในดัชนี FTSE Emerging Market กดดันสัดส่วนหุ้นไทยมีโอกาสลดลง จากล่าสุดมีสัดส่วน 3.7% (สูงเป็นอันดับที่ 7 ใน 25 ประเทศ) คาดว่าจะลดเหลือ 3.65% ทำให้มีโอกาสไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในเดือน ก.ย. รวมการย้ายเม็ดเงินเข้าสินทรัพย์ปลอดภัยยังมีอยู่ เนื่องจากนักลงทุนคาดหวังการปรับลดดอกเบี้ยของเฟด

ส่วนปัจจัยในประเทศ บล.เอเซียพลัสปรับลดประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ลง 2.7% มาอยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท กําไรต่อหุ้น (EPS) 100.64 บาท โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ PTTGC, SCC, IRPC และ BANPU รวมถึงสายการบิน THAI, BA, AAV ผลจากการแข่งขันที่รุนแรง และหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ KBANK, KTB, BBL, SCB , TMB ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามกนง. กระทบต่อประมาณการกําไรสุทธิ ปี 2562-2563 ของกลุ่มฯ ปรับตัวลดลง 3.8% และ 5.2%

” บจ.ทำกำไรไตรมาส 2 ได้จำนวน 2.16 แสนล้านบาท ลดลงถึง 18.7%จากไตรมาส 1 จึงต้องปรับลดประมาณการกําไรสุทธิปี 2562 ลง 2.7% จากที่เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ แต่ตัวเลข 9.99 แสนล้านบาท ยังคงเติบโต 2.85% จากปีก่อน เมื่อคูณกับ P/E 16.45 เท่า (บนสมมุติฐาน Market Earning Yield Gap 4.28%) จะได้ดัชนีเป้าหมายที่ 1,655 จุด “บล.เอเซียพลัส ระบุ