โดย….สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
หากถามว่า ใครบ้างไม่ต้องเสียภาษี แน่นอนนะว่าคำตอบหนึ่ง คือ พระภิกษุ ถ้าจะดูว่าพระภิกษุต้องเสียภาษีหรือไม่ เราต้องมาดูประมวลรัษฎากรซึ่งกำหนดว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ต้องมีสถานะ อย่างหนึ่งอย่างใด ต่อไปนี้
1) บุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
3) ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี
4) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง
5) วิสาหกิจชุมชน ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน เฉพาะที่เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
พระภิกษุจัดเป็นบุคคลธรรมดาตามกฎหมาย ดังนั้นพระภิกษุจึงต้องเสียภาษีจากเงินได้บุคคลธรรมดา ส่วนจะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอย่างไร เรามาดูกันนะว่าพระภิกษุมีเงินได้แบบไหนบ้าง
เงินได้หลักๆของพระภิกษุ จะมาจาก 2 อย่าง คือ นิตยภัต และ เงินบริจาคของญาติโยม
• “นิตยภัต” ตามระเบียบกรมการศาสนาว่าด้วยการเบิกจ่ายนิตยภัต พ.ศ. 2514 หมายถึง เงินงบประมาณที่กรมการศาสนาได้รับเป็นประจำปี เพื่อจ่ายถวายอุปถัมภ์แก่พระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้ง หรือพระภิกษุผู้ปฏิบัติหน้าที่พิเศษ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตรานิตยภัต เงินได้ประเภทนี้มีลักษณะคล้ายเงินเดือน แต่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้
• เงินบริจาคของญาติโยมเข้าบัญชีส่วนบุคคลพระภิกษุเข้าเกณฑ์ตามมาตรา 42 (23) เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือ ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
จะเห็นได้ว่า เงินได้หลัก 2 อย่างที่พระภิกษุได้รับเป็นเงินได้ที่ยกเว้นภาษี ดังนั้นเราจึงมักจะเห็นว่าพระภิกษุไม่ได้เสียภาษี เลยเข้าใจผิดไปว่า พระภิกษุคือบุคคลพิเศษที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ใช่ เพราะหากพระภิกษุมีเงินได้อย่างอื่น ก็ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเหมือนบุคคลอื่นทั่วไป อย่างเช่น
• เงินได้มีลักษณะเป็น “เงินเดือน” จากหน้าที่การงานที่ทำ เช่น กรณีข้อหารือกรมสรรพากรอันหนึ่งที่หารือว่า มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยที่จัดตั้งขึ้นใหม่ เพื่อให้การศึกษาแก่พระภิกษุและคฤหัสถ์ มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ มีเจ้าหน้าที่ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ซึ่งได้รับเงินเดือนจากเงินงบประมาณแผ่นดินในหมวดเงินอุดหนุน จึงหารือว่า พระภิกษุที่ได้รับเงินเดือนดังกล่าวมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร หรือไม่ ซึ่งกรมสรรพากรได้ตอบว่า เงินเดือนที่พระภิกษุได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่มีกฎหมายใดยกเว้นภาษีเงินได้ให้ ดังนั้น พระภิกษุจึงต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 56 วรรคแรก แห่งประมวลรัษฎากร
• ดอกผลของเงินได้ เช่น การนำเงินบริจาคหรือเงินเดือนที่ได้มาไปฝากธนาคาร และได้รับดอกเบี้ย หรือเอาไปทำธุรกิจค้าขายแล้วเกิดมีกำไร เงินได้ประเภทนี้ต้องเสียภาษีเงินได้เหมือนชาวบ้านเช่นกัน
• หรืออย่างเงินบริจาคของญาติโยม ซึ่งแต่เดิมเงินได้ประเภทนี้ได้รับยกเว้นภาษีทั้งก้อนไม่จำกัดจำนวนตามที่กล่าวข้างต้น แต่เมื่อภาษีการรับการให้บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 ) ส่งผลให้เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยาหรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือ ตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี ทั้งนี้ จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรสเฉพาะเงินได้ ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้นเท่านั้นที่ไม่ต้องเสียภาษี ก็ส่งผลให้พระภิกษุถ้าได้รับเงินบริจาคเกิน 10 ล้านบาทในปีภาษีใดๆ ส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทต้องเสียภาษีการรับการให้ 5%
เมื่อพระภิกษุอยู่ในฐานะต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนั้นพระภิกษุจึงควรวางแผนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเช่นกันไม่ว่าจะเป็นการซื้อประกันชีวิต RMF หรือ LTF เป็นต้น