HoonSmart.com>>กำไรบจ.ไตรมาส 2/62 หดตัวแรง เหลือ 2.17 แสนล้านบาท บล.เอเซียพลัส ปรับลดเป้าทั้งปีเป็น 9.99 แสนล้าน ลุ้นไตรมาส 4 หนุน บล.หยวนต้า คาดพลังงาน- โรงกลั่น-แบงก์ฟื้น เชิงกลยุทธ์มองบวก กลุ่มสื่อสาร ADVANC- INTUCH อาหาร CPF และ BJC ค้าปลีก
บล.เอเซียพลัส (ASP) วิเคราะห์ภาพรวมผลงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดไตรมาส 2/2562 ทำได้ต่ำกว่าคาด รวมครึ่งปีมีกำไรสุทธิเพียง 4.82 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 47% ของประมาณการกำไรสุทธิทั้งปีที่ 1.026 ล้านล้านบาท ฝ่ายวิจัยต้องปรับลดประมาณการลง 2.7% อยู่ที่ 9.99 แสนล้านบาท กำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 100.64 บาท/หุ้น ส่วนระดับค่า P/E ที่เหมาะสม แบบอนุรักษ์นิยมที่ 16.45 -17.3 เท่า ทำให้ดัชนีหุ้นสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1,656 – 1,741 จุด ถือเป็นระดับที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันไม่มากนัก แต่ก็ปรับตัวลงจำกัดเช่นกัน
ส่วนภาพตลาดในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ (26-30 ส.ค.2562) ยังคงผันผวน และให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นไทยคงไว้ที่ 40% แต่ปรับพอร์ตให้เป็นเชิงรุกต่อเนื่อง คัดเฉพาะหุ้นที่มีปัจจัยบวกขับเคลื่อนราคา หุ้นเด่น เลือก STA มูลค่าเหมาะสม 13 บาท ผลประกอบการไตรมาส 2 พลิกกลับมาเป็นกำไร เห็นสัญญาณบวกจากทั้งรายได้ และประสิทธิภาพการทำกำไรที่ดีขึ้น คาดต่อเนื่องถึงปีหน้า ขณะที่หลายเดือนที่ผ่านมาราคาหุ้นปรับตัวลดลงไปมาก ทำให้โอกาสจะปรับตัวลงมีไม่มาก
นอกจากนี้ยังเลือกหุ้นบริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล ( BCH) ให้มูลค่า 22.50 บาทคาดกำไรไตรมาส 3 จะโดดเด่น มาจากการเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจโรงพยาบาล รวมถึงประสิทธิภาพในการเบิกจ่ายจากประกันสังคมมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และการกลับมาทำกำไรโดดเด่นของ WMC หลังจาก ชะลอตัวลงมาตั้งแต่ปลายปี 2561
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดบจ.มีกำไรสุทธิราว 2.17 แสนล้านบาทในไตรมาส 2 หดตัวอย่างนัยสำคัญทั้งจากไตรมาส 1 ประมาณ 18.3% และ 24.4% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงาน แต่อีกส่วนหนึ่ง ผลงานหลักของหุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก หรือ Global Play หดตัวแรง เช่น กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี รวมถึงหุ้นวัสดุก่อสร้าง (SCC)ตามทิศทางราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว มีเพียงหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เติบโตโดดเด่น ส่งผลให้กำไรสุทธิรวมในครึ่งปีลดลงมากถึง 16% และ Consensus ปรับลดประมาณการกำไรสำหรับปี 2562 ลงอย่างต่อเนื่อง มองว่า กำไรตลาดน่าจะกลับมาโตเด่นในไตรมาส 4 เพราะฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า ในเชิงกลยุทธ์ เรามีมุมมองเชิงบวกต่อกลุ่มสื่อสาร (ADVANC/ INTUCH), กลุ่มอาหาร (CPF) และกลุ่มค้าปลีก (BJC)
“กำไรสุทธิรวมครึ่งปีแรกอยู่ที่ราว 4.83 แสนล้านบาท หดตัวมากถึง 16% หากกำไรสุทธิทั้งปี 2562 จะทรงตัวจากปีก่อน กำไรครึ่งปีหลังจำเป็นต้องเติบโตไม่น้อยกว่า 20% จากฐานที่ต่ำในไตรมาส 4 ปีก่อนเพียง 1.56 แสนล้านบาทเท่านั้น คาดว่ากำไรของกลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี กลุ่มโรงกลั่น มีปัจจัยบวกหนุนจากมาตรการ IMO , กลุ่มธนาคาร มีแนวโน้มตั้งสำรองน้อยลง ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ ธปท. ต่อมาตรฐานบัญชี IFRS9 ประเด็นการใช้สำรองส่วนเกิน, กลุ่มสื่อสาร การแข่งขันในอุตสาหกรรมมือถือลดความรุนแรงลงและ ARPU มีแนวโน้มดีขึ้น