สภาพัฒน์หั่นเป้าศก.โต 2.7-3.2% ธปท.รอเคาะก.ย. ทหารไทยกดเหลือ 2.7%

HoonSmart.com>> เศรษฐกิจขาลง สภาพัฒน์เปิดตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 โต 2.3% ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ปรับลดเป้าหมายทั้งปีเหลือ 2.7-3.2% ส่งออกติดลบ 1.2% แบงก์ชาติรอประกาศตัวเลขใหม่เดือนก.ย. รมว.คลังลั่นเติบโต 3% ทหารไทยคาดขยายตัวแค่ 2.7% ธปท.ลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง คาดเงินบาทถึงสิ้นปี แข็ง 6% แตะ 30.5 บาท/ดอลลาร์  

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2/2562 อยู่ที่ 2.3% จากตลาดคาด 2.1-2.5% ส่งผลให้ครึ่งปีแรกขยายตัว 2.6% ทั้งนี้ GDP ไตรมาส 2/2562 โตต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส ซึ่งสภาพัฒน์เชื่อว่าจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้

ส่วนการส่งออกปีนี้คาดติดลบ 1.2% จากเดิมคาด 2.2% นำเข้าติดลบ 1.6% จากเดิมคาดโต 3.5% การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัว 4.2% และ 3.8% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.7 – 1.2% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 5.9% ของ GDP

นายทศพรกล่าวว่า สภาพัฒน์ปรับลดคาดการณ์ GDP ปีนี้เหลือโต 2.7-3.2% จากเดิม 3.3-3.8% หลังคาดส่งออก-นำเข้าติดลบ ส่วนปี 2563 โตเพิ่มเป็น 3.5%

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่า ในเดือนก.ย.นี้ ธปท.จะพิจารณาปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2562 ลงอีก เนื่องจากบรรยากาศการกีดดันทางการค้าที่ยังรุนแรงและยืดเยื้อกระทบต่อภาคการส่งออก จากเมื่อเดือนมิ.ย.ได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ลงมาที่ 3.3% จากต้นปีเดิมคาดโต 3.8%

” เศรษฐกิจโลกมีความอ่อนไหวและเปราะบางเพิ่มขึ้นมาก เราปรับประมาณการทุกไตรมาส ก.ย.คงปรับลงอีก เพราะบรรยากาศเรื่องการกีดกันทางการค้าดูจะรุนแรงขึ้นและไม่มีแนวโน้มที่จะจบลงได้ง่าย แตกต่างจากสมมติฐานที่เราใช้ประมาณการ คาดว่าข้อตกลงทางการค้าน่าจะมีข้อสรุปได้ การส่งออกน่าจะฟื้นตัวได้ ” ผู้ว่าธปท. กล่าว

สำหรับการส่งออก แม้จะติดลบ แต่ถ้าเทียบกับประเทศรอบบ้านที่ส่วนใหญ่ติดลบ 2 หลัก เช่น สิงคโปร์ -14 ถึง -15% เกาหลี ไต้หวัน ติดลบ 2 หลัก ถือว่าไทยติดลบน้อยกว่า เพราะมีสินค้าส่งออกที่หลากหลายและกระจายตลาดการส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ เช่น อาเซียน CLMV ก็มีส่วนที่ทำให้การส่งออกไม่หดตัวแรงเหมือนกับประเทศอื่น

นายวิรไท กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความผันผวนสูง สภาพคล่องในระบบการเงินโลกมีส่วนเกินอยู่มาก หลังจากธนาคารกลางของประเทศอุตสาหกรรมหลักๆ ได้กลับมาทำนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น มีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าไปในระบบการเงินโลก เวลาเกิดเหตุอะไรที่ไม่คาดคิด ก็จะส่งผลกระทบอัตราแลกเปลี่ยน ราคาหุ้น ราคาพันธบัตร อัตราดอกเบี้ย คาดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนจะเกิดมากขึ้น ส่วนเงินบาทแข็งมากเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าน้อยกว่าประเทศอื่น สถานการณ์นี้ ธปท.พยายามลดแรงกระแทกต่างๆ ท่อที่นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาในช่วงสั้นๆ ทำให้แคบลง มีมาตรการออกมาสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาท เปิดเสรีให้คนไทยเอาเงินออกไปนอกประเทศได้มากขึ้น ไม่ว่าการลงทุนโดยตรง จะผ่อนคลายมากขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลของเงินไหลเข้าและเงินไหลออกนอกประเทศมากขึ้น

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า ยังมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้จะขยายตัวได้ตามเป้าหมายที่ 3% ในวันที่ 20 ส.ค. กระทรวงการคลังเตรียมเสนอครม.พิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่จะออกมาเริ่มใช้ได้ ปลายส.ค.-ต้นก.ย. หากครม.เห็นชอบตามวงเงินที่เสนอ 3.16 แสนล้านบาทจะช่วยกระตุ้น GDP เพิ่มขึ้น 0.55%

นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ  ธนาคารทหารไทย แถลงปรับลดเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2562 เหลือ 2.7% จากเดิมคาดไว้ 3.0% เนื่องจากครึ่งปีแรกแย่กว่าคาด แรงส่งต่อในช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากสงครามการค้าถึงทางตัน และค่าเงินบาทแข็ง จึงยากที่จะเห็นส่งออกกลับมาในปีนี้ คาดติดลบ 2.7% ลุ้นปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาโตได้ 3%

” คาดว่าธปท.จะปรับลดดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งในไตรมาส 4 ทำให้อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และอาจลดได้อีก 1 ครั้ง ถ้าเศรษฐกิจแย่กว่าคาด และเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย จากการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 1.50% แต่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 30.83-30.95 บาท/ดอลลาร์ และเริ่มเห็นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว ส่วนค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 30.5 บาท/ดอลลาร์ หรือแข็งค่า 6% “นายนริศกล่าว

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติพลาดเป้าขยายตัวเพียง 2% อยู่ที่ 39.1 ล้านคน ชะลอลงมากจากก่อนที่ขยายตัว 7.5% ปัจจัยลบยังคงเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินหยวน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนชะลตัวลง ส่วนการลงทุนภาครัฐชะลอกว่าคาด ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนส่อเค้าไม่ขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปีคาดโตได้ 1.8%