ดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุน 3 เดือนข้างหน้าลดลง 22.9% กังวลเฟดขึ้นดอกเบี้ย-บอนด์ยิลด์สหรัฐเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยเศรษฐกิจในประเทศ พ่วงกำไรบจ.ที่คาดว่าเติบโต 11.1% จะผลักดันให้หุ้นไทยปีนี้ขึ้นต่อได้
นางวรวรรณ ธาราภูมิ ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนประจำเดือนพ.ค.2561 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ 3 เดือนข้างหน้า (ก.ค.2561) อยู่ที่ 92.65 ลดลง 22.90% โดยปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นมาจากปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายปรับเพิ่มดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งส่งผลให้บอนด์ยิลด์สหรัฐเพิ่มขึ้นแตะ 3% แล้วในขณะนี้ รองลงมาเป็นการไหลเข้าออกของเงินทุน และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ
สำหรับปัจจัยสนับสนุนความเชื่อมั่นฯมาจากในประเทศ ได้แก่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่ปรับตัวดีขึ้น การเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)ประกาศจีดีพีไตรมาส 1 ว่าเติบโตได้ 4.8% สูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสหรือ 5 ปี และปรับเป้าเศรษฐกิจทั้งปีเป็น 4.2-4.7% เป็นต้น อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงติดตามความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้ง
ผลสำรวจพบว่านักลงทุนรายบุคคลส่วนใหญ่เห็นว่าหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาเป็นหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ ส่วนสถาบันในประเทศมองว่าหมวดพลังงานและสาธารณูปโภคน่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาเป็นหมวดธนาคารและหมวดเทคโนโลยีและการสื่อสาร และนักลงทุนต่างชาติเห็นว่าหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาเป็นหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค
ส่วนหมวดที่ไม่น่าสนใจลงทุน นักลงทุนรายบุคคลส่วนใหญ่เห็นว่าเป็นหมวดธนาคาร แฟชั่น และกระดาษและวัสดุการพิมพ์ สถาบันในประเทศมองว่าเป็นหมวดธุรกิจเหล็ก ธนาคาร และกระดาษและวัสดุการพิมพ์ ส่วนต่างชาติมองว่าเป็นหมวดธุรกิจเกษตร อาหารเครื่องดื่ม พลังงานและสาธารณูปโภค และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการและกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน กล่าวว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุน ส่วนใหญ่หรือ 51.61% มองว่าดัชนีหุ้นไทยระยะสั้นยังคงเป็นไซด์เวย์ และ54.15% มองว่า ณ สิ้นเดือนพ.ค.ดัชนีจะอยู่ที่ 1,785 จุด โดยนักวิเคราะห์ฯมองว่าดัชนีฯต่ำสุดจะอยู่ที่ 1,703 จุด และสูงสุดจะอยู่ที่ 1,885 จุด ขณะที่ค่าเฉลี่ยของดัชนีฯทั้งปีจะอยู่ที่ 1,860 จุด
“ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ปัจจัยการเมืองในประเทศ ปัจจัยเศรษฐกิจต่างประเทศ และ Fund Flows เป็นปัจจัย 4 อันดับแรกที่มีผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยระยะยาว ส่วนปัจจัยเชิงลบ ได้แก่ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟด รองลงมาเป็น Fund Flows สถานการณ์การเมืองในต่างประเทศ และปัจจัยการเมืองในประเทศ”นายสมบัติระบุ
ขณะที่การคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้นปีนี้ ผลสำรวจพบว่าส่วนใหญ่มองว่าอยู่ที่เฉลี่ย 110.74 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 11.10% ส่วน Forward พี/อี เฉลี่ยอยู่ที่ 16.43 เท่า ขณะที่หุ้นที่นักวิเคราะห์ 6 สำนักขึ้นไปแนะนำซื้อ ได้แก่ AOT ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากนักท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง BBL ที่ผลดำเนินงานจะเติบโตจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว CPALL จากเศรษฐกิจในประเทศที่ฟื้นตัว IVL ที่กำไรจะเติบโตแข็งแกร่ง และPTT ที่มีการขยายการลงทุนพื้นที่อีอีซี
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์ารลงทุน กล่าวว่า ปีนี้และปีหน้าตลาดหุ้นโลกอยู่ในช่วงท้ายของตลาดกระทิง จากนั้นจะเข้าสู่ถดถอย โดยราคาหุ้นจะลดลง 25% ในช่วง 2-3 เดือนหรือมากกว่านั้น ก่อนจะเข้าสู่ขาขึ้นรอบใหม่ ส่วนตลาดหุ้นไทยจะยังขึ้นต่อแตะระดับ 1,850 จุดในปีนี้ และเพิ่มเป็น 1,950-2,000 จุดในปีหน้า โดยมีผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนเป็นแรงสนับสนุนสำคัญ
“ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังโตอยู่ หุ้นไทยจะไม่ลง โดยพี/อีที่ 15 เท่าถือว่าไม่แพงและยังเหมาะสมอยู่ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจไทยปีนี้ที่จะโตกว่า 4%”นายไพบูลย์กล่าว
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าบอนยีลด์ระยะ 10 ปี และระยะ 2 ปีของสหรัฐ มีส่วนต่างดอกเบี้ยเพียง 0.5% จากภาวะปกติที่ส่วนต่างดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5-2% สะท้อนว่านักลงทุนยังไม่เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะแข็งแรงพอจะรองรับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ซึ่งทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปีค่อยๆเพิ่มเป็น 4.5% จาก 3% ได้หรือไม่ จึงนำเงินออกจากตลาดหุ้นเพื่อรอดูความชัดเจน ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่ยากสำหรับการลงทุนในตลาดหุ้น