PPPM จ่ายหุ้นกู้แค่ 260 ล้าน ขอยืดหนี้ 319 ลบ. – เงินกู้แบงก์ 587 ลบ.

HoonSmart.com>>ตลาดหลักทรัพย์เปิดซื้อขายหุ้น PPPM หลังบริษัทชี้แจงชำระหนี้หุ้นกู้ชุด1 มูลค่า 260 ล้านบาทได้ โอนเงินคืนไทยพาณิชย์เรียบร้อย ส่วนชุดที่ 2 จำนวน 319.50 บาท ขอนัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ ยืดการชำระออกไป 330 วัน แถมดอกเบี้ย 0.5%เป็น 7.75% ขอต่อรองไม่จ่ายค่าปรับ 2% ส่วนหุ้นกู้อีก 3 ชุดที่เหลือ ไม่ถือว่าผิดนัด เพราะเงื่อนไขกำหนดไว้หากไม่เกิน 400 ล้านบาท ไม่เป็นไร แต่มีผลกระทบต่อหนี้สถาบันการเงิน ขอเจรจายืดการชำระเงินกู้ระยะยาว 587 ล้านบาท เผยเตรียมขายทรัพย์สิน โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้ พิภพ ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมด 15 ยูนิต

บริษัท พีพี ไพร์ม (PPPM) ส่งหนังสือถึงตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกรณีให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชำระหนี้หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2560 จำนวน 216.80 ล้านบาท ว่า วันที่ 6 สิงหาคม 2562 คณะกรรมการบริษัทมีมติให้ชำระเงินคืนให้ธนาคารไทยพาณิชย์ นายทะเบียนหุ้นกู้ บริษัทได้คืนเงินด้วยวิธีการโอนเงินด้วยระบบบาทเนตเรียบร้อยแล้ว โดยเงินที่นำมาชำระดังกล่าวมาจากการเพิ่มทุน ซึ่งกำหนดวันจองซื้อและชำระค่าหุ้นเมื่อวันที่ 1-5 กรกฎาคม 2562 จำนวนประมาณ 250 ล้านบาท และ เงินทุนหมุนเวียนของบริษัท

ส่วนการชำระหนี้หุ้นกู้ที่เหลือ จำนวน 43.70 ล้านบาท เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 บริษัทได้โอนเงินเข้าบัญชีผู้ถือหุ้นกู้ รวม 40 ราย และจัดทำเป็นแคชเชียร์เช็คจำนวน 9 ราย ซึ่งปรากฏว่า มีตัวแทนของผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ได้ประสานงานว่า ผู้ถือหุ้นกู้จะมารับในวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ณ บริษัท ฟีนิกซ์ แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส ซึ่งมีผู้ถือหุ้นกู้ทั้ง 9 รายได้รับแคชเชียร์เช็คไปครบถ้วนแล้ว โดยเงินที่นำมาชำระมาจากการเพิ่มทุนและเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท และจากการประสานงานกับ นายทะเบียนหุ้นกู้ปรากฏว่า มีผู้ถือหุ้นกู้ 3 ราย ที่ยังไม่ได้รับชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ บริษัทจึงได้โอนเงินให้กับผู้ถือหุ้นทั้ง 3 รายโดยตรงแล้ว เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2562

กรณีธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะนายทะเบียนหุ้นกู้ได้โอนเงินและออกเช็คให้กับผู้ถือหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนไปบางส่วนในวันที่ 30 ก.ค. 2562 จากการประชุมกับธนาคารในช่วงบ่ายของวันที่ 31 ก.ค. 2562 ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่า เป็นการตัดเงินของธนาคารจากระบบด้วยความผิดพลาด ดังนั้นบริษัทได้เข้าใจโดยสำคัญผิดและแจ้งไปว่า เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2562 นายทะเบียนหุ้นได้ชำระหนี้ให้กับผู้ถือหุ้นกู้

แต่เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2562 บริษัททราบว่า การชำระหนี้หุ้นกู้ลำดับที่ 1 จำนวน 260.50 ล้านบาท นายทะเบียนหุ้นกู้ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ถือหุ้นกู้ไป เป็นการตัดเงินของธนาคารจากระบบด้วยความผิดพลาดให้กับผู้ถือหุ้นกู้ไปจำนวน 216.8 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทยังไม่ทันได้นำเงินฝากเข้าบัญชี เพื่อชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ ต่อมาเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2562 ผู้บริหารของบริษัทและผู้บริหารของธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ประชุมร่วมกันแล้ว ทำให้บริษัททราบโดยชัดแจ้งแล้วว่า การโอนเงินเข้าบัญชีผู้ถือหุ้นกู้เป็นไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น

สำหรับผลกระทบต่อแผนการชำระหนี้หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2561 จำนวน 319.50 ล้านบาท ที่ครบกำหนดไถ่ถอนในวันที่ 2 สิงหาคม 2562 บริษัทจะดำเนินการชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 โดยเงินจะมาจากการขายหลักทรัพย์เพื่อค้า, เงินทุนหมุนเวียนและเงินจากการเพิ่มทุน แต่เนื่องจากบริษัทได้นำเงินจากการเพิ่มทุนไปชำระหุ้นกู้ครั้งที่ 1 แล้ว และบริษัทยังไม่สามารถขายหลักทรัพย์เพื่อค้าได้ ทำให้บริษัทไม่สามารถชำระหนี้ไถ่ถอนหุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2561 จำนวน 319.5 ล้านบาทได้ และด้วยผลจากการที่บริษัทมีเงินกู้ที่มีกำหนดระยะเวลาการชำระหนี้คืนในหลายช่วงเวลา รวมทั้งแผนการเพิ่มทุนที่บริษัทได้วางแผนไว้ไม่สำเร็จตามแผน ทำให้การจัดการด้านการเงินของบริษัทในการชำระหนี้คืนดังกล่าวไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ บริษัทมีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน

คณะกรรมการบริษัทในการประชุมครั้งที่ 16/2562 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2562 จึงมีมติแจ้งเหตุการณ์การผิดนัดไม่ชำระหนี้หุ้นกู้ ครั้งที่ 2/2561 จำนวน 319.5 ล้านบาท และมีมติกำหนดให้เรียกประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 2 กันยายน 2562 เวลา 14.00 น. สถานที่จัดประชุมจะแจ้งให้ทราบต่อไป กำหนดวันปิดสมุดทะเบียนวันที่ 19 สิงหาคม 2562 เวลา 12.00 น.   เพื่อขอขยายระยะเวลาการชำระไถ่ถอนเงินต้นหุ้นกู้ออกไป 330 วัน ซึ่งจะครบกำหนดไถ่ถอนวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 โดยบริษัทจะชำระดอกเบี้ยปกติของงวดวันที่ 2 สิงหาคม 2562 จำนวนประมาณ 5.71 ล้านบาท ในวันที่ 2 กันยายน 2562 และบริษัทจะขอแก้ไขอัตราดอกเบี้ยปกติจากอัตรา 7.25% ต่อปี เพิ่มขึ้นอีก 0.5% เป็น 7.75% ต่อปี

โดยบริษัทจะชำระดอกเบี้ยที่จะได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในงวดถัดไปในวันที่ 2 พฤศจิกายน 2562 จำนวนประมาณ 6.10 ล้านบาท , วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2563 ประมาณ 6.105 ล้านบาท และวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 ประมาณ 10.175 ล้านบาท รวมเป็นดอกเบี้ยทั้งหมด 22.385 ล้านบาท โดยใช้เงินจากเงินทุนหมุนเวียน สำหรับการชำระหนี้ดอกเบี้ยและเงินต้นเพื่อไถ่ถอนหุ้นกู้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2563 บริษัทจะดำเนินการขายทรัพย์สินที่ไม่ได้ใช้ดำเนินการและขายหลักทรัพย์เพื่อค้า บริษัทจะขอผ่อนผันยกเว้นอัตราดอกเบี้ยผิดนัดกับผู้ถือหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้บวกด้วยอัตรา 2% ต่อปี

การผิดนัดชำระหนี้ครั้งนี้ไม่ก่อให้เกิดเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้เงินในหุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A), หุ้นกู้ครั้งที่ 3/2561 (TLUXE199A) และหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) ที่กำหนดไว้ เพราะไม่เกินจำนวนรวมกันเกินกว่า 400 ล้านบาทตามเงื่อนไข

ส่วนผลกระทบต่อการผิดนัดชำระหนี้สินอื่นๆ เช่น หนี้สถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 บริษัทมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน 2 แห่งรวม 927 ล้านบาท แบ่งเป็นหนี้สินระยะสั้น 340 ล้านบาท (วงเงินทุนหมุนเวียน) และหนี้สินระยะยาว 587 ล้านบาท ซึ่งหนี้สินระยะยาวเป็นไปตามสัญญากู้เงินของสถาบันการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งมีข้อสัญญาในกรณีผิดนัดกำหนดให้เมื่อบริษัทมีหนี้สินอื่นใดไม่มีการชำระหนี้ที่ถึงกำหนด เป็นเหตุกรณีผิดนัด และด้วยบริษัทมีการผ่อนชำระหนี้ตามปกติกับสถาบันการเงินดังกล่าวมาโดยตลอด บริษัทจะดำเนินการขอผ่อนผันเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ดังกล่าว โดยบริษัทจะรายงานผลการพิจารณาของสถาบันการเงินภายในทันทีที่ทราบผลการพิจารณา และบริษัทยังชำระหนี้ตามปกติ รวมทั้งยังไม่มีสถาบันการเงินเจ้าหนี้รายใดได้เรียกเงินชำระหนี้คืนก่อนกำหนด ส่วนสถาบันการเงินอีกแห่งหนึ่งมิได้มีข้อกำหนดกรณีผิดนัด

สำหรับหนี้หุ้นกู้อีก 3 รุ่น ครั้งที่ 3/2561 (TLUXE199A) มูลค่า 134 ล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอน วันที่ 3 กันยายน 2562 หุ้นกู้ ครั้งที่ 1/2561 (TLUXE205A) มูลค่า 200 ล้านบาท วันที่ 8 พฤษภาคม 2563 หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 (PPPM213A) มูลค่า 207.60 ล้านบาท ครบกำหนดวันที่ 18 มีนาคม 2564 บริษัทจะชำระหนี้ดอกเบี้ยปกติและไถ่ถอนหุ้นกู้ภายในกำหนด โดยใช้เงินจากการขายหลักทรัพย์เพื่อค้าและที่ไม่ได้ใช้ บริษัทได้เคยทำบันทึกข้อตกลงเบื้องต้นในการจำหน่ายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศญี่ปุ่น ทั้งหมด 15 ยูนิต บริษัทได้รับเงินมัดจำ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2561 จำนวน 200 ล้านเยน (ประมาณ 59.98 ล้านบาท)

ต่อมา เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 บริษัทได้รับเงินมัดจำเพิ่มจำนวน 400 ล้านเยน (ประมาณ 116.28 ล้านบาท) ทำให้บริษัทได้รับเงินมัดจำรวม ประมาณ 600 ล้านเยน (หรือ ประมาณ 176.26 ล้านบาท) ซึ่งเดิมทางผู้ซื้อคาดว่าจะจ่ายค่าซื้อโรงไฟฟ้าพลังงาน ความร้อนใต้พิภพได้ภายในไม่เกิน 30 มิถุนายน 2562

ขณะนี้ผู้ซื้อได้เจรจากับบริษัทเพื่อขอขยายอายุข้อตกลงเบื้องต้นเป็นไม่เกินธันวาคม 2562 มูลค่าส่วนที่เหลือที่จะได้รับชำระเงินอีกประมาณ 4,200 ล้านเยน (หรือประมาณ 1,183.77 ล้านบาท) รวมทั้งนำเงินจากเงินทุนหมุนเวียนและสภาพคล่องของกิจการมาชำระไถ่ถอนหุ้นกู้ต่อไป จึงไม่กระทบต่อผลการดำเนินงาน ซึ่งบริษัทยังดำเนินธุรกิจขายอาหารสัตว์และธุรกิจพลังงาน ความร้อนใต้พิภพได้ตามปกติ

ส่วนสาเหตุหลักเนื่องจากการปรับโครงสร้างทางการเงิน บริษัทจะดำเนินการ แก้ไขปรับปรุงให้ธุรกิจของบริษัทเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและชำระหนี้คืนให้ตรงตามกำหนดระยะเวลาต่อไป

ตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่องหมาย SP ซื้อขายหุ้น PPPM ตามปกติ ตั้งแต่เช้าวันที่ 8 ส.ค. ราคาเปิดที่ 1.50 บาท และลงไปต่ำสุดที่ 1.40 บาท ใกล้ฟลอร์ที่ 1.38 บาท ก่อนเด้งขึ้นมาซื้อขายบริเวณ 1.54 บาท ร่วงลง 0.43 บาท หรือ 21.83% ส่วนตลาดโดยรวม ดัชนีลดลง 5 จุด หรือ 0.31% ณ เวลา 10.15 น.