HoonSmart.com>> “ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์” เดินหน้าระดมทุนขายหุ้นกู้ 4,000 ล้านบาท อายุ 3 ปี 3 เดือน จ่ายดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี เปิดจอง 6 – 8 ส.ค.นี้ แต่งตั้งธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ “ทริส เรทติ้ง” จัดเครดิตหุ้นกู้ BBB+ แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก เตรียมนำเงินปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโรงไฟฟ้า ลงทุนโครงการในอนาคต
นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งรายใหญ่ของไทย เปิดเผยว่า บริษัทฯ เตรียมเสนอขายหุ้นกู้ครั้งที่ 1/2562 ครบกำหนดไถ่ถอน ปี 2565 มูลค่าไม่เกิน 3,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองเพื่อการเสนอขายเพิ่มเติมไม่เกิน 1,000 ล้านบาท รวมมูลค่าไม่เกิน 4,000 ล้านบาท
หุ้นกู้มีอายุ 3 ปี 3 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.50% ต่อปี ซึ่งการเสนอขายหุ้นกู้ครั้งนี้จะเสนอขายให้กับผู้ลงทุนทั่วไป และหรือ ผู้ลงทุนสถาบัน จำนวนจองซื้อขั้นต่ำ 100,000 บาท และ ทวีคูณครั้งละ 100,000 บาท โดยหุ้นกู้ในครั้งนี้ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2562 อยู่ที่ระดับ “BBB+” แนวโน้มความน่าเชือถือ “Positive” ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้แต่งตั้งให้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
“การออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ เพื่อนำไปลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าของบริษัทที่มีอยู่ และนำไปลงทุนในโครงการของบริษัทในอนาคต และ/หรือ ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานของบริษัท เพื่อสร้างการเติบโตในระยะยาวต่อไป” นายภัคพล กล่าว
“ปัจจุบันโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 440 เมกะวัตต์ ซึ่งได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบหมดทุกโรงแล้ว โดยในปี 2561 และในไตรมาส 1/2562 ที่ผ่านมา บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 3,699 ล้านบาท และ 983 ล้านบาท ตามลำดับ โดยผลการดำเนินงานได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และมั่นคงมาโดยตลอด” นายภัคพล กล่าว
สำหรับการจัดอันดับเครดิตของ ทริส เรทติ้ง ที่ระดับ “BBB+” พร้อมแนวโน้มอันดับเครดิต ‘Positive’ หรือ ‘บวก’ สะท้อนถึงความมั่นคงของกระแสเงินสดที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreements — PPA) กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตลอดจนการมีอัตรากำไรที่สูงจากส่วนเพิ่มของราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และการมีต้นทุนเชื้อเพลิงที่สามารถแข่งขันได้ทั้งจากเชื้อเพลิงขยะ (Refuse-derived Fuel — RDF) และความร้อนทิ้งจากการผลิตปูนซีเมนต์ของบริษัทแม่