บิ๊ก BBL ยืนเป้าสินเชื่อโต 4% หุ้นดิ่งแรง เทรด 0.82 เท่าของบุ๊ก

HoonSmart.com>>หุ้นธนาคารกรุงเทพทรุดลงต่อ 3 บาท  สวนทางผู้บริหารแบงก์ยืนยันผลงานปีนี้เข้าเป้าหมาย  มั่นใจสินเชื่อโต 4% บล.ฟินันเซียไซรัส ชี้ท้าทายมาก จาก 6 เดือนหดตัว 3.2%  หากราคาหลุด 184 บาท พบกัน 180 บาท  ราคาแถวนี้เหมาะซื้อถือลงทุนยาว  ส่วนธนาคารเกียรตินาคินลดเป้าสินเชื่อปีนี้จากโต 8% เหลือ 5% ด้านบริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ฯผิดหวังสินเชื่อครึ่งปีโตแค่ 1%  คาดกำไรครึ่งปีหลังทรงตัวหนุนฐานะเงินกองทุนแข็งแรงต่อเนื่อง 

วันที่ 30 ก.ค.2562 ราคาหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังคงปรับตัวลงแรงกว่าตลาด นำโดยธนาคารกรุงเทพ (BBL) ซื้อขายที่ 182.50 บาท รูดลง 3 บาท หรือ 1.82% มูลค่าซื้อขาย 1,183 ล้านบาท  ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปิดที่ 134.50 บาท ลดลง 1.50 บาทหรือ 1.10% ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ปิดที่ 172 บาท ลดลง 2.50 บาทหรือ 1.43%  ส่วนดัชนีหุ้นลดลง 11.48 จุด หรือ 0.67% ปิดที่  1,706.49  จุด

มาร์เก็ตติงกล่าวว่า ราคาหุ้น BBL ปรับตัวลงมาตั้งแต่ประกาศผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2562   นักวิเคราะห์ผิดหวังกำไรที่ออกมามาก  เพราะสะท้อนธุรกิจอ่อนแอลง จึงปรับลดราคาเป้าหมาย ปัจจุบันซื้อขายสัดส่วนราคาต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชี (P/BV) เพียง 0.82 เท่า ของมูลค่าหุ้นทางบัญชีที่ 22.78 บาทต่อหุ้น และ P/E 10 เท่าเท่านั้นณ เวลา 16.10 น.

นาง จิตรา อมรธรรม รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า วันที่ 30 ก.ค. ผู้บริหารของธนาคารกรุงเทพพบนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ โดยยืนยันไม่ปรับลดเป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้  ยังคงมั่นใจว่าสินเชื่อจะเติบโตได้ 4% แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะหดตัวลงแรงถึง 3.2% ก็ตาม ถือว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก ส่วนเรื่องคุณภาพสินเชื่อก็สามารถดูแลได้เช่นเดียวกัน

ก่อนหน้านี้ บล.ฟินันเซียไซรัส ปรับลดราคาเป้าหมายหุ้น BBL จากระดับ 245 บาท เหลือ 222 บาท เพราะผิดหวังรายได้จากดอกเบี้ยและไม่ใช่ดอกเบี้ย จากการหดตัวของสินเชื่อ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจประกันและกองทุนรวมลดลงมามากกว่าที่คาดการณ์

นางจิตรากล่าวว่า  ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงมามาก ถือว่าน่าสนใจซื้อเพื่อถือลงทุนระยะยาว เพราะธนาคารไม่ได้ขาดทุน แต่ราคากลับซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี แต่ในการวิเคราะห์ทางเทคนิค หากราคาหุ้นปรับตัวลงหลุด 184 บาท มีโอกาสไปซื้อขายบริเวณ 180 บาท

“ผลงานของ BBL ที่ไม่น่าประทับใจ ทำให้เราถอดหุ้น BBL ออกจาก Top Pick หันไปให้ความสนใจหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นเกินความคาดหมาย และ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่ราคาหุ้นปรับตัวลงมาอยู่ที่ 172 บาท โดยไม่มีเหตุผลสนับสนุน” นางจิตรา กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2/2562 เป็นไปตามคาด ส่วนหนึ่งเกิดจากการตั้งสำรองหนี้ที่ลดลง ส่วนแนวโน้มครึ่งปีหลังคาดว่าจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจชะลอตัว และดอกเบี้ยขาลง ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการขยายสินเชื่อ และหารายได้จากดอกเบี้ยสุทธิ

ทางด้านธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  เปิดเผยว่า ธนาคารได้ปรับลดเป้าหมายสินเชื่อรวมในปี 2562 เหลือโต 5% จากเดิมตั้งเป้าไว้โต 8% หลังจากครึ่งปีแรกพลาดเป้าหมาย โดยเติบโตเพียง 2.1% มาจากการหดตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ 2.7% เพราะการซื้อรถยนต์ชะลอตัว โดยเฉพาะรถยนต์มือสองที่ธนาคารมีสัดส่วนสินเชื่อมากถึง 63% เมื่อเทียบกับรถยนต์ใหม่ที่ 37%  รวมถึงธนาคารยังเพิ่มความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อรถยนต์มือสองมากขึ้น หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณหนี้เสีย โดยรวมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของธนาคารในปีนี้จะขยายตัวเพียงเล็กน้อยที่ 0.1% จากปีก่อน

ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจของธนาคารในครึ่งปีแรก แม้ยังไม่มีดีลใหม่ๆ แต่ในครึ่งปีหลังจะมีดีลไอพีโอทยอยออกมามากขึ้น เช่น บริษัท ดูโฮม (DOHOME) และบริษัทแอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) ที่ได้ประกาศออกไปแล้ว  นอกจากนี้ยังมีดีลอื่นๆ ที่คาดว่าจะเห็นความชัดเจน เช่น ดีลการควบรวมระหว่างธนาคารทหารไทย (TMB) และธนาคารธนชาต (TBANK)  คาดว่ารายได้ธุรกิจวาณิชธนกิจใกล้เคียงหรือมากกว่าปีก่อนที่ 800 ล้านบาท จากครึ่งปีแรกอยู่ที่ 200 ล้านบาท

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในประเทศไทยมีผลประกอบการทรงตัวในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562  แนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์และความสามารถในการทำกำไรที่ยังสนับสนุนโครงสร้างเครดิต แม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ 1% จะต่ำกว่าประมาณการเดิมของฟิทช์ก็ตาม ส่วนแนวโน้มกำไรจากการดำเนินงานทรงตัวในช่วงครึ่งปีหลังส่งผลให้ฐานะของเงินกองทุนจะยังคงแข็งแรงขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปและสนับสนุนให้ธนาคารสามารถรองรับความเสี่ยงเชิงลบรวมถึงผลกระทบจากการเริ่มใช้มาตรการและกฏระเบียบใหม่ เช่น การเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (IFRS9) ในปี 2563