“เสี่ยเจริญ” ยึดพื้นที่ตลาดหุ้น 2 แสนลบ. ประกัน- AWC เพิ่มมูลค่าอีก 1.2 แสนล้าน

HoonSmart.com>>”กลุ่มสิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวม 10 บริษัท มูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านบาท

ในเร็วๆ นี้ มูลค่าจะเพิ่มขึ้นอีกมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท มาจากบริษัท ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งแปลงร่างมาจากกลุ่มบริษัทอาคเนย์ฯ รวมกับบริษัท ไทยประกันภัย (TIC) กลับเข้ามาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป (AWC) เตรียมเสนอขายหุ้นประชาชนครั้งแรก (ไอพีโอ) ในไตรมาส 3 หรือ 4 นี้ มีมาร์เก็ตแคป กว่า 1 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสิริวัฒนภักดีถือหุ้น 75%

ธุรกิจประกันและธุรกิจให้เช่ารถยนต์เพื่อการดำเนินงานจะมีคู่แข่งที่น่ากลัวมากๆๆๆ

บริษัทไทยประกันภัย ที่มีมาร์เก็ตแคปเพียง 634 ล้านบาท จะมีขนาดใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเป็นบริษัทใหม่ชื่อ “ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น”   พร้อมบุกธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจที่สร้างผลตอบแทนในระยะยาว

ส่วน AWC แม้ว่าจะต้องใช้เวลาในการแต่งตัวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ เพราะถูกก.ล.ต.ดักทางเรื่องความขัดแย้งทางผลประโยชน์ จะต้องจัดโครงสร้างการถือหุ้นให้เรียบร้อย โอนเปลี่ยนมือจากชื่อบุคคล เป็นสินทรัพย์ของแอสเสท เวิรด์ คอร์ป ควักเงินจ่ายภาษีการโอนมากโข แต่เรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้ว บล.ภัทร 1 ใน 3 ที่ปรึกษาทางการเงินคาดว่าจะเสนอขายหุ้นได้ในไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 นี้ บริษัทเพิ่มทุน 8,000 ล้านบาท เป็น 3.2 หมื่นล้านบาท เสนอขายไอพีโอ 6,957 ล้านหุ้น กรีนชูออฟชั่น 1,043 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 1 บาท เท่านั้น

เชื่อว่าหุ้นจะ “ฮอต” มากๆ เป็นที่ต้องการของนักลงทุนสถาบันไทยและต่างประเทศ ขาใหญ่ไม่ร้องยี้ เหมือนไอพีโอหลายตัวก่อนหน้านี้ เพื่อเป็นเจ้าของโรงแรม อสังหาริมทรัพย์เพื่อประกอบกิจการการค้าและอาคารสำนักงานหลายแห่ง บนทำเลทอง กลางใจเมืองกรุงเทพฯ

แอสเสท เวิรด์ คอร์ป เป็นบริษัทจดทะเบียนที่มีความแตกต่างจากหุ้นหลายตัวที่ “กลุ่มสิริวัฒนภักดี” เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะได้รับการชักชวนจากตลาดหลักทรัพย์ ให้เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นทางตรง เป็นตัวแรก

ที่ผ่านมา”เสี่ยเจริญ”ได้เข้าไปเข้าครอบงำกิจการหรือเทคโอเวอร์ บริษัทจดทะเบียน เพื่อเข้าจดทะเบียนทางอ้อม (backdoor listing) มาโดยตลอด สร้างผลงานให้ประจักษ์ ทุกตัวเจริญเติบโตก้าวกระโดด และเพิ่มขนาดใหญ่อย่างมีนัยสำคัญ เพราะรู้จักวิธีหาเงินและใช้เงินจากตลาดทุน  ผสมผสานกลยุทธ์ซื้อกิจการไม่หยุด  ต่อยอดธุรกิจครบวงจร ปิดโอกาสรายอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งการตลาด

ต้องยกตำแหน่ง “ผู้นำธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค และอสังหาริมทรัพย์ครบวงจรในอาเซียน” ไม่รวมถึงตำแหน่งพี่ใหญ่ในวงการเครื่องดื่มในระดับภูมิภาค

เสี่ยเจริญก้าวเข้าตลาดหุ้นไทย เมื่อปี 2544  ซื้อกิจการเก่าแก่อายุ 100 ปี บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) ธุรกิจค้าปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและปี 2559 ซื้อบริษัทบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (BIGC) พัฒนาขยายกิจการทั้งในประเทศและต่างประเทศ  พัฒนาคุณภาพสินค้าและการบริการเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค

เช่นเดียวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ปี 2550 เข้าซื้อหุ้นบริษัท ยูนิเวนเจอร์ (UV) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และจำหน่ายเคมีภัณฑ์ พร้อมปรับธุรกิจเป็นโฮลดิ้ง ซื้อบริษัท แผ่นดินทอง พร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์ (GOLD) ปี 2555 และปีเดียวกันได้ซื้อหุ้นบริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลลอปเม้นท์ อสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดอาศัย

ไม่หยุดอยู่แค่นั้น ยังใช้บริษัทในสิงคโปร์ ซื้อบริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น (TICON)   เปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) หรือ FPT ศูนย์รวมธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของกลุ่ม

ตั้งแต่วันแรกที่เข้าลงทุนมาจนถึงวันนี้  สร้างมูลค่าเพิ่มมหาศาล

ปัจจุบันคงไม่มีใครรู้ว่า”กลุ่มสิริวัฒนภักดี”มีมูลค่าทรัพย์สินอยู่เท่าไร  เฉพาะในตลาดหุ้นไทยก็มากกว่า 3 แสนล้านบาท ไม่นับรวม บริษัทไทยเบฟจดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ ทื่มีมาร์เก็ตแคปสูงกว่า 450,000 ล้านบาท และอีกหลายๆบริษัททั้งที่อยู่ในตลาดหุ้นต่างประเทศ นอกตลาดหลักทรัพย์ เชื่อว่าในปี 2553  ” เสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี”จะกลับมาคว้าอันดับ 1 มหาเศรษฐีไทยของนิตยสารฟอร์บส์ (Forbes)ได้เช่นเดิม