HoonSmart.com>>บล.เอเซียพลัสคาดหุ้นสัปดาห์นี้ ดัชนีแกว่งในกรอบ 1,720– 1,740 จุด ส่วนบล.กสิกรไทยกดแนวรับที่ 1,715 และ 1,700 จุด แบงก์กสิกรไทยคาดค่าเงินบาทมีโอกาสอ่อนหลุด 31 บาท รอผลประชุมเฟด ตลาดกังวลไม่ปรับลดดอกเบี้ยปลายเดือนก.ค.นี้
บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส (ASP) คาดแนวโน้มในสัปดาห์ที่จะถึงนี้ (30 ก.ค.-2 ส.ค.2562)คาดว่าดัชนีจะอยู่ในกรอบ 1,720– 1,740 จุด โดยแนะนำหุ้น TTCL ให้ราคาเป้าหมาย 12.50 บาท และ BJC มูลค่า 61 บาท
สำหรับTTCL ประเมินว่าผลงานไตรมาส 2 จะโดดเด่น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการบันทึกกําไรจากการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อย และธุรกิจหลักมีการเติบโต โครงการโรงไฟฟ้า Ahlone เฟสที่ 2 เดินหน้า ส่วน BJC ราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นน้อยกว่าหุ้นค้าปลีกตัวอื่นๆ ฝ่ายวิจัยคาดว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการมากระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย
ตลาดในสัปดาห์นี้มีหลายปัจจัยที่ต้องติดตาม และน่าจะมีผลต่อทิศทางหุ้น เริ่มจากการประชุมของธนาคารกลางในประเทศสําคัญหลายแห่ง โดยเฉพาะธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (30-31 ก.ค.) นักลงทุนคาดว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% และควรมีการแสดงท่าที่ปรับลดลงต่อเนี่องในการประชุมรอบที่เหลือของปี 2562 หากเป็นไปตามคาด น่าจะทําให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่า เอี้อต่อการที่จะเห็นเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย
นอกจากนี้ยังต้องติดตามการประกาศผลการดำเนินงานงวดไตรมาส 2/2562 ของบริษัทจดทะเบียนที่ทำธุรกิจแท้จริง เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นการชะลอตัวทั้งจากระยะเดียวกันปีก่อนและไตรมาส 1 แต่ก็อาจมีการเก็งกําไรในหุ้นบางบริษัทที่คาดว่าจะออกมาโดดเด่น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ น่าจะเห็นการเร่งออกมา เชื่อว่าน่าจะสร้างผลทางจิตวิทยาเชิงบวกต่อตลาดหุ้น
ทางด้านบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย ให้แนวรับที่ 1,715 และ 1,700 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,730 และ 1,745 จุด ตามลำดับ สัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีปิดที่ 1,717.97 จุด ลดลง 0.99% จากสัปดาห์ก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 58,401.58 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.36%
สาเหตุที่หุ้นปรับตัวลงตามภูมิภาค เกิดขึ้นหลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาค่อนข้างดี ทำให้นักลงทุนกังวลว่าเฟดอาจปรับมุมมองเกี่ยวกับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในการประชุมช่วงสิ้นเดือนก.ค.
ส่วนแนวโน้มค่าเงินบาท ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหว ที่ 30.70-31.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากในวันศุกร์ (26 ก.ค.) เงินบาทกลับมาปิดตลาดที่ 30.89 บาท (หลังอ่อนค่าลงแตะระดับ 31 บาท ในช่วงแรก) เทียบกับระดับ 30.78 บาท ในวันศุกร์ก่อนหน้า (19 ก.ค.)
เงินบาททยอยอ่อนค่าลงในช่วงต้น-กลางสัปดาห์ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรุนแรงในระยะใกล้ๆ นี้ ประกอบกับมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติมจากนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิพันธบัตรไทย ในทางกลับกันเงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนจากการบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับงบประมาณของสหรัฐฯ และการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือ IMF ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปีนี้ ขณะที่ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ บางส่วนที่ออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้ตลาดระมัดระวังมากขึ้น ในการประเมินมุมมองดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมสิ้นเดือนก.ค.