HoonSmart.com>> “บัตรกรุงไทย” ไตรมาสสองกำไร 1,323.28 ล้านบาท เพิ่มเล็กน้อย 1.3% เหตุเศรษฐกิจชะลอตัว การแข่งขันสูง คุมคุณภาพพอร์ตได้ดีกดหนี้เสียลด ส่วนครึ่งปีแรกกำไร 2,912.70 ล้านบาท โต 16% ด้านธุรกิจนาโน-พิโกไฟแนนซ์ พร้อมบริการไตรมาส 3 มั่นใจหนุนผลงานทั้งปีดีกว่าประมาณการไว้
บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) แจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 2/62 กำไรสุทธิ 1,323.28 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.51 บาท เพิ่มขึ้น 1.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 1,305.88 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.51 บาท
ส่วนงวด 6 เดือน ปี 2562 กำไรสุทธิ 2,912.70 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 1.13 บาท เพิ่มขึ้น 16% จากงวดเดียวกันของปีก่อนกำไรสุทธิ 2,514.80 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.98 บาท
ภาพรวมธุรกิจสินเชื่อเพื่อผู้บริโภคในไตรมาส 2/62 ชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจของไทยที่ชะลอตัว อีกทั้งยังมีความท้าทายเพิ่มมากขึ้้นเรื่อยๆ จากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงมากขึ้น พฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าพอร์ตลูกหนี้รวมจะเติบโตในลักษณะชะลอตัว เป็นผลให้รายได้รวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเพียง 7% อยู่ที่ 11,102 ล้านบาท แต่การที่บริษัทยังสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายให้เพิ่มขึ้นไม่สูง ประกอบกับความสามารถในการคงมูลค่าต้นทุนเงินทุนให้อยู่ในระดับเดิม
ขณะที่หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวนสูงขึ้นตามมูลหนี้ที่เพิ่มขึ้น และเนื่องจากใตรมาส 2 มีวันทำการน้อยกว่าไตรมาสอื่นๆ ทำให้การติดตามหนี้คืนมีความยากขึ้น จำนวนหนี้สูญได้รับคืนมีอัตราลดลงเมื่อเทียบกับช่วงระยะเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามบริษัทยังคงสามารถทำกำไรอยู่ในระดับที่น่าพอใจ บริษัทยังสามารถคงสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงเดิม
บริษัทฯ มีรายได้ในงวด 6 เดือนแรกเติบโต 7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวมโต 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 11,102 ล้านบาท เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่เติบโต 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 8% ตามลำดับ พร้อมกับการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม (ไม่รวมค่าธรรมเนียมในการใช้วงเงิน) เพิ่ม 5% จากงวดเดียวกันของปีก่อนและหนี้สูญได้รับคืนเพิ่มขึ้น 3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่อรายได้รวม เท่ากับ 33.8% ลดลงจาก 35.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในรอบ 5 เดือนปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรของบริษัทขยายตัว 10.6% สูงกว่าอุตสาหกรรมที่เติบโตที่ 8.7% ส่วนยอดลูกหนี้รวม 77,121 ล้านบาท ขยายตัว 7% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 15.39% เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี ก่อนที่อยู่ที่ 15.26% เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยรับเฉลี่ยเพิ่มจาก 18.23% เป็น 18.26% และต้นทุนเงินทุนลดลงจาก 2.97% เหลือ 2.87%
อย่างไรก็ตามบริษัทควบคุมคุณภาพพอร์ตลูกหนี้ดีต่อเนื่อง NPL ลูกหนี้รวมของบริษัทอยู่ที่ 1.13% ลดลงจาก 1.14% ณ สิ้นปี 2561 อีกทั้งลดลงจากไตรมาส
เดียวกันของปี ก่อนและไตรมาสที่ผ่านมาที่อยู่ที่ 1.27% และ 1.18% ตามลำดับ บริษัทคาดว่าจะยังสามารถรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับต่ำได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้บริษัทได้จัดตัง้บริษัท เคทีซี นาโน และบริษัท เคทีซี พิโก กรุงเทพ เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2562 เพื่อประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้การก ากับ (Pico Finance) และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ (Nano Finance) โดยบริษัทถือหุ้นแต่ละบริษัทในสัดส่วน 75.05% และได้นำรวมรายการทางการเงินที่เกิดขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของงบการเงินรวมของบริษัท ทั้งนี้ทั้งสองบริษัทยังอยู่ในระหว่างดำเนินการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งบริษัทคาดว่าจะเริ่มประกอบธุรกิจได้ในไตรมาส 3 ปีนี้
บริษัท เคทีซี ระบุว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีบริษัทมีอัตราการเติบโตของพอร์ตลูกหนี้ต่ำกว่าประมาณการที่ได้ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามด้านการสร้างรายได้ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องจากปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรและจากยอดลูกหนี้ของสินเชื่อบุคคลที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น และเนื่องจากมีการควบคุมคุณภาพพอร์ตได้เป็นอย่างดี มีอัตราหนี้เสียที่ต่ำ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรมสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่รุนแรงมากขึ้น การเข้าสู่ธุรกิจใหม่ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจนาโน – พิโกไฟแนนซ์ รวมทั้งธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน จึงเป็นโอกาสสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนให้แก่บริษัท ซึ่งคาดว่าจะเห็นภาพที่ชัดเจนของธุรกิจใหม่ได้ภายใน 18-24 เดือนข้างหน้า อย่างไรก็ตามบริษัทคาดว่าจะสามารถสร้างผลดำเนินงานของทั้งปี 2562 ได้ดีกว่าประมาณการเดิมที่เคยเปิดเผยไว้