วิจัยกสิกรฯ คาดกำไรแบงก์ Q2/62 ชะลอ รายได้ธุรกิจหลักยังไม่ฟื้น

HoonSmart.com>> ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดกลุ่มแบงก์กำไรไตรมาส 2/62 ชะลอตัวจากไตรมาสแรกเหลือ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท ชี้รายได้จากธุรกิจหลักยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ขยับขึ้น ฉุดการเติบโต

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิในไตรมาส 2/2562 ของระบบธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในไทยจำนวน 19 แห่ง อยู่ที่ประมาณ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท ลดลงจากกำไรสุทธิ 5.259 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 โดยกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 2/2562 อาจมีกรอบการฟื้นตัวที่จำกัด เนื่องจากการเติบโตของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคารพาณิชย์ ทั้งการปล่อยสินเชื่อ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการ ยังคงรอจังหวะการฟื้นตัวที่ชัดเจนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเลื่อนเวลาออกไปเป็นช่วงครึ่งหลังของปี

นอกจากนี้ จังหวะการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่อ

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถบริหารจัดการปัญหานี้ได้ ซึ่งทำให้คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) หรือ NPL ratio ในไตรมาส 2/2562 อาจขยับสูงขึ้นเพียงเล็กน้อยมาที่กรอบ 2.94-2.96% จากระดับ 2.94% ในไตรมาส 1/2562

รายได้จากธุรกิจหลักที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ยังคงเป็นข้อจำกัดการเติบโตของผลประกอบการไตรมาสที่ 2/2562 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย แม้ว่าผลกระทบจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินผ่านช่องทางดิจิทัลที่กดดันมาตั้งแต่ไตรมาส 2/2561 น่าจะเริ่มบรรเทาลง

อย่างไรก็ตามแม้ในไตรมาส 2/2562 จะไม่มีแรงกดดันจากการชำระคืนสินเชื่อเหมือนในไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ไทยอาจจะยังขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณ 4.7-4.9% ในไตรมาส 2/2562 จากที่เติบโต 5.4% ในไตรมาสแรกของปี ตามสัญญาณของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวในกรอบที่ค่อนข้างจำกัด และการเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยก็เริ่มชะลอลงหลังมาตรการ LTV ใหม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย. 2562 เป็นต้นมา

อัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อาจจะชะลอลงในไตรมาส 2/2562 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 2.85-2.87% เมื่อเทียบกับ NIM ที่ 2.93% ในไตรมาสที่ 1/2562 ซึ่งมีแรงหนุนพิเศษจากการรับรู้รายได้ดอกเบี้ยของลูกหนี้ NPL จากการขายหลักประกัน

อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กรอบคาดการณ์ NIM ในไตรมาส 2/2562 ดังกล่าว ยังเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับ NIM ในไตรมาส 1/2562 ที่หักผลของปัจจัยพิเศษออกไป โดยคาดว่า ผลตอบแทนจากการปล่อยสินเชื่อ จะยังสามารถชดเชยต้นทุนเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ต้องทยอยรับรู้ หลังจากที่ธ.พ.บางแห่งมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำและออมทรัพย์พิเศษบางรายการ

รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างเต็มที่ โดยหากไม่นับปัจจัยพิเศษจากการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนแล้ว คาดว่า รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย อาจจะยังเผชิญแรงกดดัน เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจากส่วนอื่นๆ รวมถึงรายได้สุทธิจากธุรกิจประกัน น่าจะเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัว โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับในไตรมาส 2/2562 ยังมีโอกาสหดตัวลงต่อเนื่อง แม้ว่าแรงฉุดจากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการโอนเงินจะทยอยลดลงในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมาแล้วก็ตาม

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางการฟื้นตัวที่ไม่ต่อเนื่องของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้บางกลุ่ม ซึ่งเพิ่มความเปราะบางให้กับประเด็นด้านคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์และทำให้ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งยังคงส่งสัญญาณบริหารจัดการ ติดตามและดูแลปัญหานี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของระบบธนาคารพาณิชย์ (รวมธนาคารพาณิชย์ไทย และสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ) หรือ NPL Ratio มีโอกาสขยับขึ้นมาที่กรอบ 2.94-2.96% ในไตรมาส 2/2562 สูงขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 2.94% ในไตรมาส 1/2562

อย่างไรก็ดี เนื่องจากธ.พ. หลายแห่งมีการตั้งสำรองฯ ส่วนเกินในระดับสูง ทำให้คาดว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) อาจทรงตัวที่กรอบ 1.10-1.14% ในไตรมาส 2/2562 จาก 1.09% ในไตรมาส 1/2562

จากทิศทางดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ยังสามารถประคองความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ในไตรมาส 2/2562 ซึ่งในไตรมาสนี้จะไม่มีค่าใช้จ่ายจากการตั้งสำรองผลประโยชน์พนักงานตามกฎหมายแรงงานใหม่มาเพิ่มแรงกดดันเหมือนในไตรมาสแรก

ขณะที่คาดว่า การบริหารจัดการด้านต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการกันสำรองฯ อาจจะช่วยทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยสามารถบันทึกกำไรสุทธิในกรอบประมาณ 5.1-5.2 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2/2562 (ไม่นับรวมรายการพิเศษที่อาจเกิดขึ้น อาทิ การบันทึกกำไรจากเงินลงทุน) ชะลอลงไม่มาก เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิที่ 5.236 หมื่นล้านบาท ในไตรมาส 2/2561