“เอเซียพลัส” คาดหุ้นปรับฐาน แนะหุ้นได้ประโยชน์นโยบายรัฐ

HoonSmart.com>> บล.เอเซียพลัส คาดหุ้นสัปดาห์หน้าดัชนีพักฐาน แนวรับ 1,710-1,715 จุด แนวต้าน 1,750 จุด แนะหุ้นได้ประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลใหม่

บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส (ASP) คาดแนวโน้มตลาดหุ้นวันที่ 15-19 ก.ค.2562 ดัชนีอยู่ในช่วงการปรับฐานราคา โดยอาจเห็นการชะลอตัวของ Fund Flow ที่เคยเป็นแรงผลักดันตลาดหุ้นไทยเป็นการชั่วคราว ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวระหว่างสัปดาห์ SET Index จะมีแนวรับที่ 1,710/1,715 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ 1,750 จุด จากสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนีแกว่งพักตัวในกรอบ 1,721-1,748 จุด มาปิดที่ 1,731.59 จุด เพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.36 จุด

ส่วนปัจจัยที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ นอกจากเรื่องตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นตัวกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในอนาคตแล้วในประเทศ คือการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2562 ซึ่งโดยภาพรวมฝ่ายวิจัยประเมินว่าจะเห็นการชะลอตัวทั้ง YoY และ QoQ นอกจากนี้ยังมีเรื่องขั้นตอนที่จะนำไปสู่การเริ่มปฎิบัติงานของรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

การลงทุนในสัปดาห์นี้ให้น้ำหนักไปในหุ้นที่น่าจะได้ประโยชน์จาก นโยบายของรัฐบาลใหม่ที่คาดว่าจะเริ่มทำงานได้ในช่วยปลายเดือน ก.ค. หรือ ต้น ส.ค. เริ่มจากหุ้น BJC มูลค่าเหมาะสม 61 บาท โดยเชื่อว่ามาตรการเร่งด่วนที่รัฐจะต้องดำเนินการคือ การกระตุ้นให้เกิดการบริโภคภาคครัวเรือน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อหุ้นค้าปลีก ขณะที่ BJC ถือว่ายังอยู่ในภาวะ Laggard และ Upside มากกว่า 20% อีกบริษัทหนึ่งเลือก AMATA มูลค่าเหมาะสม 35.70 บาท ภาพการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตเพื่อลดผลกระทบสงครามการค้าชัดเจนขึ้นตามลำดับ

ขณะที่วัฎจักการลงทุนของผู้ประกอบการในประเทศก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังได้รัฐบาลใหม่เข้ามาทไงาน สถานการณ์แวดล้อมดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อ AMATA ซึ่งมีพอร์ตที่ดินใน EEC ราว 1 หมื่นไร่ สำหรับภาพรวมการลงทุนในหุ้นไทย ยังกำหนดน้ำหนักไว้ที่ 40% ของพอร์ตการลงทุนรวมตามเดิม

สำหรับภาพรวมตลาดการเงินในสัปดาห์นี้ ยังถูกขับเคลื่อนด้วยสภาพคล่องส่วนเกินต่อเนื่อง ทำให้ความสนใจหลักอยู่ที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ซึ่งจะประชุมในช่วงปลายเดือน โดยนักลงทุนคาดหมายว่าจะเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทำให้ราคาหุ้นในตลาดหุ้นสำคัญของโลกปรับตัวขึ้นไปรองรับความคาดหวังดังกล่าว ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงว่าหาก Fed ปรับลดดอกเบี้ยตามคาดก็อาจทำให้เกิด Sell on Fact และในทางตรงข้ามหากไม่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยก็อาจสร้างแรงกดดันต่อตลาด