เคาะสนั่นเก็งกำไร JAS ลือสะพัด ดีลบิ๊กเบิ้ม

HoonSmart.com>>จุดพลุเก็งกำไร JAS ลือสะพัด ดีลบิ๊กเบิ้ม ดันราคาพุ่ง 4% สูงสุดในรอบ 1 ปี มูลค่าซื้อขายมากกว่า 1 พันล้านบาท ส่วน BTS ไม่หยุดขยายธุรกิจ ซื้อบิ๊กล็อต COM7 59 ล้านหุ้น 1,264 ล้านบาท จากซีอีโอและผู้บริหาร นักลงทุนทั่วไปขอแจมด้วย 11.50 ล้านหุ้น

วันที่ 8 ก.ค. 2562 ราคาหุ้นบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS)กระโดดทันที 15 สตางค์ เปิดที่ 7.45 บาท สวนทางภาวะตลาดหุ้นรวมที่ปรับตัวลง จากนั้นแรงซื้อที่เข้ามาดันราคาขึ้นไปสูงสุด 7.65 บาท จนปิดที่ 7.60 บาท เพิ่มขึ้น 30 สตางค์ หรือ 4.11% ท่ามกลางมูลค่าซื้อขายหนาแน่น 1,105.69 ล้านบาท จากปกติเทรดกันวันละหลักร้อยล้าน บางวันไม่ถึง 100 ล้านบาท

แหล่งข่าววงการสื่อสาร กล่าวว่า มีกระแสข่าวดีกับหุ้น JAS ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับธุรกิจเดียวกัน ซึ่งเป็นดีลขนาดใหญ่และเป็นผลดีกับ JAS ไม่สามารถเปิดเผยได้ นักลงทุนที่แห่ลุยเข้าไป ต้องใช้ความระมัดระวังการเก็งกำไร เนื่องจาก ไม่รู้ว่า ดีลนี้จะสำเร็จหรือไม่

สำหรับ JAS เป็นผู้นำธุรกิจให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง มีนายพิชญ์ โพธารามิก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทถือหุ้นใหญ่ที่สุด สัดส่วน 56.18% หรือจำนวน 4,572 ล้านหุ้น ตีมูลค่า 34,750 ล้านบาท

ส่วนราคาหุ้นปิดที่ 7.65 บาท สร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 1 ปี จากที่เคยอยู่ที่ 7.45 บาท และยังสูงกว่าราคาเป้าหมายที่ บล.โนมูระ พัฒนสิน ให้ไว้ที่ 6.30 บาท โดยคาดว่ากำไรต่อหุ้นในปีนี้เท่ากับ 0.25 บาท ลดลง 26.5% จากปีก่อน ส่วนปีหน้ามีกำไรต่อหุ้น 0.29 บาท เติบโต 16%

สำหรับบิ๊กล็อตบริษัท คอมเซเว่น (COM7) เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา จำนวน 70.5 ล้านหุ้น มูลค่า 1,510 ล้านบาท คิดเป็น 5.87% ของทุนชำระแล้ว ในราคาเฉลี่ย 21.43 บาทต่อหุ้น ต่ำกว่าราคาปิดที่ 22 บาท มีคำตอบออกมาว่า นายสุระ คณิตทวีกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้บริหารอีก 3 คน ได้แบ่งขายหุ้นให้แก่กลุ่ม บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์  หรือ BTS จำนวน 59 ล้านหุ้น และอีก 11.5 ล้านหุ้น ให้กับนักลงทุนทั่วไปที่ให้ความสนใจก่อนหน้านี้

นายสุระกล่าวว่า ได้ขายหุ้นที่ถือในนามส่วนตัว จำนวน 52 ล้านหุ้น และผู้บริหารระดับสูง 3 คน ได้แก่ นางสาวอารี ปรีชานุกูล จำนวน 10 ล้านหุ้น นายกฤชวัฒน์ วรวานิช จำนวน 5 ล้านหุ้น และนางสาวณัฐนันท์ กีรติกรยศนันท์ จำนวน  3.5 ล้านหุ้น เนื่องจาก BTS มองเห็นศักยภาพและโอกาสการเติบโตของธุรกิจ อีกทั้งเพื่อลงทุนในระยะยาว โดยไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างคณะกรรมการ การจัดการ และนโยบายการดำเนินธุรกิจของบริษัทแต่อย่างใด

ทั้งนี้ BTS มีบริษัทในกลุ่มที่แข็งแกร่ง จะเข้ามาสนับสนุน COM7 ในด้านต่างๆ อาทิ แผนการตลาด การจัดโปรโมชั่นร่วมกัน การลงพื้นที่โฆษณาในเครือของ BTS และพื้นที่เช่าตามสถานีต่างๆ ของ BTS การสนับสนุนด้านโลจิสติกส์ ของเคอรี่ เอ็กซ์เพรส เพื่อเติมเต็มธุรกิจอีคอมเมิร์ซ รวมถึง ต่อยอดการให้บริการด้านไฟแนนซ์ และอื่นๆ ในอนาคต ผ่านฐานข้อมูลลูกค้าซึ่งมีจำนวนมาก

ขณะที่ COM7 ประกอบธุรกิจค้าปลีกสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟนที่มีสาขาครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ สามารถเป็นอีกหนึ่งช่องทางการขยายบริการให้แก่บริษัทในกลุ่ม BTS อาทิ การเพิ่มจุดบริการเคอรี่ เอ็กซ์เพรส ผ่านสาขาของบริษัทได้

“COM7 เป็นบริษัทที่ไม่เคยหยุดนิ่ง เรามองหาโอกาสการเติบโตในทุกรูปแบบ ทั้งจากธุรกิจค้าปลีกที่เรามีความแข็งแกร่ง รวมถึง มองหาพาร์ทเนอร์ที่จะเข้ามาช่วยผลักดันการเติบโตให้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยส่วนตัวได้ขายหุ้นออกมาบางส่วน แต่ยังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 25.05% ซึ่งอยากคงไว้ในระดับนี้ และไม่มีนโยบายขายหุ้นออกมาอีก” นายสุระ กล่าว

ล่าสุด วันที่ 8 ก.ค. COM 7 ราคาปิดที่ 22.60 บาท เพิ่มขึ้น 0.60 บาทหรือ 2.73%

ด้านผู้ถือหุ้นใหญ่ COM7 ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2562   ได้แก่ อันดับ 1 นายสุระ คณิตทวีกุล  จำนวน 352,655,200 หุ้น สัดส่วน 29.39% ของทุนชำระแล้ว อันดับสอง นายพงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี จำนวน 168,758,100 หุ้น สัดส่วน 14.06% อันดับสามนายบัญชา พันธุมโกมล จำนวน 70,956,300 หุ้น สัดส่วน 5.91%

COM7 เป็นผู้นำร้านค้าปลีกไอทีและสมาร์ทโฟนที่มีสาขาครอบคลุมมากที่สุดในประเทศ ณ สิ้นไตรมาส 1/2562 มีสาขาภายใต้การบริหาร รวมจำนวน 662 สาขา ได้แก่ BaNANA 208 สาขา , Studio7 100 สาขา, Kingkong Phone 103 สาขา, BKK 37 สาขา, TRUE Shop by COM7 92 สาขา, BaNANA Shopping (แฟรนไชส์) 59 สาขา, iCare 26 สาขา และ Brand Shop 37 สาขา ตั้งเป้าสิ้นปีมีสาขาภายใต้การบริหารของบริษัทฯ จำนวน 847 สาขา  ปี 2562 ตั้งเป้าทำสถิติสูงสุดใหม่อย่างต่อเนื่องทั้งรายได้และกำไร เติบโตไม่ต่ำกว่า 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 27,913 ล้านบาท