HoonSmart.com>>จับตาตัวเลข PMI ศุกร์นี้ ชี้ทิศทางดอกเบี้ยสหรัฐ “ลอมบาร์ด” คาดเฟดจะลด 2 ครั้งๆ ละ 0.25% หนุนเงินบาทแข็งหลุด 30 บาท/ดอลลาร์ ส่งผลดีต่อหุ้น-บอนด์ตลาดเกิดใหม่ ธปท.ไม่ปิดโอกาสปรับลด กลุ่ม LGT ลดน้ำหนักหุ้นไทย-เอเชียเหลือเท่ากับตลาด หุ้นสหรัฐไปต่ออีก 5-10% บล. เอเซียพลัสคาดดอกเบี้ยลดไตรมาส 4 เพิ่มเป้าดัชนีสิ้นปีนี้จาก 1,699 เป็น 1,785 จุด
นายสเตฟาน โมเนียร์ Chief Investment Officer Lombard Odier Private Bank เปิดเผยในงานสัมมนา Kbank Private Banking:Mid-year Economic Outlook 2019 ว่า ลอมบาร์ด (Lombard) คาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อย 2 ครั้งๆ ละ 0.25% ทำให้ค่าเงินบาทในช่วงปลายปีนี้มีโอกาสแข็งหลุดกรอบ 30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง จะส่งผลดีต่อการลงทุนทั้งหุ้นและตราสารหนี้ในตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากเงินจะต้องแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า โดยแนะนำให้จัดพอร์ตลงทุนในหุ้น และพันธบัตร อย่างละ 40% ส่วนอีก 20% ลงทุนในทองคำ
ทั้งนี้ ธนาคารกลางออสเตรเลียลดดอกเบี้ยลง จาก 1.25% เป็น 1.00% เป็นการลดติดต่อกันครั้งที่สอง
นายสเตฟาน โฮเฟอร์ กรรมการผู้จัดการและหัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุน ทีมบริหารการลงทุน LGT Bank Asia ฮ่องกง กลุ่ม LGT ของราชวงศ์แห่งลิกเตนสไตน์ ที่เพิ่งเข้ามาเปิดตัวให้บริการบริหารความมั่งคั่งในประเทศไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนและตลาดให้ความสำคัญกับตัวเลขดัชนีของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ (5 ก.ค.) หากออกมาดี ความจำเป็นของเฟดในการลดดอกเบี้ยก็มีโอกาสน้อยลง อาจจะชะลอการลดไปถึงปลายปี ซึ่งจะต้องติดตามดู
อย่างไรก็ตาม ทาง LGT คาดว่า เฟดจะมีการปรับลดดอกเบี้ยลงในปีนี้ ส่วนจะมีผลต่อดอกเบี้ยไทยและตลาดหุ้นไทยหรือไม่ มองว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ในสถานะที่สามารถปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ หากเฟดปรับลดดอกเบี้ยลง เพราะอัตราเงินเฟ้อยังไม่สูง และสินเชื่อขยายตัวค่อนข้างต่ำ เพื่อไม่ให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยกับสหรัฐสูงเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น จากปัจจุบันที่นักลงทุนต่างชาติมองว่าเป็น Safe Heaven
ส่วนการลงทุนในหุ้นได้ปรับลดน้ำหนักตลาดไทยและเอเชียแปซิฟิกลงเหลือเท่ากับตลาด จากเมื่อต้นปี 2562 ให้น้ำหนักมากกว่าตลาด เนื่องจากราคาปรับตัวขึ้นมามาก และลดความผันผวนของพอร์ต ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐยังน่าสนใจ มีโอกาสปรับขึ้น 5-10% เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ ระหว่าง PMI และดัชนี S&P500 ขณะนี้เศรษฐกิจเพียงชะลอตัวลง ต่อเนื่องถึงปีหน้า เพราะจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.2563 ซึ่งนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศจะลงเลือกตั้งอีก 1 สมัย เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐจะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้มีผลบวกต่อผลการเลือกตั้ง หากเศรษฐกิจชะลอตัวก็จะใช้นโยบายการคลังมาดูแล ส่วนภาวะเศรษฐกิจถดถอยเล็กๆน่าจะเกิดขึ้นในปี 2564
ปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐอยู่ในช่วงดัชนี PMI สูงและกำลังลง และจะเข้าสู่ระดับต่ำและกำลังลง การลงทุนจึงต้องกระจายความเสี่ยง พอร์ตลงทุน 3-6 เดือน ให้ลงทุนในหุ้น 40% โดยครึ่งหนึ่ง หรือ 24% เป็นการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ รองลงมาเป็นตลาดหุ้นในยุโรป และสัดส่วน 40% ลงทุนตราสารหนี้ ที่เหลือ 12% บริหารสภาพคล่องผ่านทองคำ และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ส่วนการลงทุนในหุ้นเน้นบริษัทที่มีคุณภาพ ในกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค การแพทย์ โทรคมนาคม รวมทั้งหุ้นสหรัฐ หุ้นฮ่องกง และหุ้นสวิตเซอร์แลนด์ โดยให้หลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มยานยนต์ วัสดุ ธนาคาร หุ้นอิตาลี หุ้นสหราชอาณาจักร และหุ้นออสเตรเลีย
นายสเตฟานกล่าวว่า เรื่องการเจรจาการค้าระหว่างประธานาธิบดีสหรัฐ และจีนออกมาดีกว่าที่คาด คือสหรัฐไม่เก็บภาษี ไม่แบนหัวเวย ส่วนจีนจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ อย่างไรก็ตามกังวลว่าสหรัฐจะดูแลประเทศที่มีการส่งออกสินค้าไปสหรัฐมากขึ้นแทนจีน อาทิ เวียดนาม เกาหลีใต้และไต้หวัน โดยเฉพาะเวียดนามที่มีดุลการค้าเกินดุลมากขึ้นในช่วง 1-2 เดือนนี้
นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากเศรษฐกิจน่าจะเติบโตในระดับ 3.3% ตามที่คาดการณ์ไว้ แต่ธปท.ก็ยังไม่ปิดโอกาสในการลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย หากเศรษฐกิจไทยหลุดจากคาดการณ์ไปมาก คาดว่าครึ่งปีหลังจะขยายตัวได้มากกว่า 3% หรือเกือบ 4% ซึ่งสูงกว่าครึ่งปีแรกที่คาดว่าขยายตัวต่ำกว่า 3%
นอกจากนี้ ธปท.ยังต้องติดตามข้อมูลต่างๆ รวมถึงแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางของประเทศสำคัญ เช่น เฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB)
สำหรับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาในช่วงนี้ นายดอนกล่าวว่า ยังไม่ส่งผลกระทบต่อยอดขายของผู้ส่งออกมากนัก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อกำไรในรูปเงินบาทที่มีโอกาสปรับตัวลดลงได้
บล.เอเซีย พลัส (ASP) ประเมินว่า ธปท. มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงได้ เพราะยังมีช่องว่างระหว่างดอกเบี้ยนโยบายกับเงินเฟ้อ (ดอกเบี้ยนโยบาย 1.75% กับ เงินเฟ้อเฉลี่ยครึ่งปีแรก อยู่ที่ 0.92%) แต่อาจจะลดได้เพียงราว 0.25-0.5% เนื่องจากดอกเบี้ยต่ำสุดในประวัติศาสตร์อยู่ที่ 1.25% และคาดว่าน่าจะอย่างเร็วสุดคือ ช่วงไตรมาส 4
การปรับลดดอกเบี้ยถือเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทย เนื่องจากช่วยยกระดับค่า พี/อี และดัชนีเป้าหมายเพิ่มขึ้น หากใช้ฐานกำไรต่อหุ้นในปีนี้ ที่ฝ่ายวิจัยประมาณการไว้ที่ 103.32 บาทต่อหุ้น ภายใต้แนวคิด Earning Yield Gap (EYG) โดยกำหนดให้ EYG เฉลี่ยอยู่ที่ 4.28% ส่งผลให้ดัชนีเป้าหมายอยู่ที่ 1,699 จุด อย่างไรก็ตามภายใต้กรณีที่ดีที่สุด คือ กนง.มีการปรับลดดอกเบี้ย 0.25% จะได้ Forward P/E ที่ 17.27 เท่า ยกระดับเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 2562 ที่ 1785 จุด ถือว่ามี Upside ค่อนข้างจำกัดราว 3% จากปัจจุบัน