ธปท.ลดวงเงินออกพันธบัตรระยะสั้น สกัดเงินไหลเข้า

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบ ธปท. ลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น เครื่องมือชะลอเงินทุนไหลเข้า ลดแรงจูงใจต่างประเทศมาพักเงิน หลังจากเงินบาทแข็งมากสุดในรอบ 6 ปีอีกครั้ง 30.52 บาท/ดอลลาร์  ธปท.แจงการเพิ่มหรือลดวงเงินพันธบัตรพิจารณาจากสภาพคล่องและความต้องการของตลาด

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบรายละเอียดของตารางกำหนดการประมูลตราสารหนี้ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท. ปรับปรุงล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2562 พบว่า ธปท. มีการปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้นอีกครั้ง แม้จะไม่มีการประกาศโดยตรงว่า เป็นมาตรการดูแลค่าเงินบาท แต่คงต้องยอมรับว่า ในช่วงก่อนหน้านี้ (ตั้งแต่ปี 2560) ธปท. เคยใช้การลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มาเป็นเครื่องมือช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้า และ/หรือลดแรงจูงใจไม่ให้นักลงทุนต่างชาติใช้พันธบัตรระยะสั้นของไทยเป็นที่พักเงินในช่วงเวลาที่ตลาดเงิน-ตลาดทุนโลกมีความผันผวน เพราะเงินบาทมักถูกมองว่า เป็นสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัย ประกอบกับไทยมีการบันทึกยอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงตลอดหลายปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น ยังเป็นช่วงจังหวะเดียวกันกับที่มีแรงหนุนให้เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปีครั้งใหม่ที่ 30.52 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ณ วันที่ 1 ก.ค. 2562) ยิ่งกระตุ้นให้ตลาดมีความระมัดระวัง และรอติดตามสัญญาณที่อาจบ่งชี้ว่า ธปท. เตรียมที่จะออกมาตรการมาดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทย (กนง.) เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ที่ผ่านมา แสดงท่าทีที่เป็นกังวลมากขึ้นต่อสถานการณ์เงินบาท ซึ่งแข็งค่าอย่างรวดเร็ว และเริ่มไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย

ทั้งนี้ วงเงินประมูลพันธบัตรระยะสั้นของธปท. จะปรับลดลงในเดือนก.ค. ทั้งพันธบัตรอายุ 3 เดือน อายุ 6 เดือน และ 1 ปี โดยวงเงินการออกพันธบัตรธปท. ระยะสั้น 3 เดือน และพันธบัตรระยะ 6 เดือน ลดลงประเภทละ 5,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ขณะที่วงเงินการออกพันธบัตรธปท. อายุ 1 ปี ลดลง 10,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้การปรับลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น มักจะเป็นเครื่องมือแรกๆ ที่ธปท. นำมาใช้เพื่อช่วยชะลอกระแสเงินทุนไหลเข้าระยะสั้น อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลสุทธิที่มีต่อทิศทางการเคลื่อนย้ายเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติ ยังคงขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะมุมมองต่อแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ฯ รวมถึงการปรับพอร์ตการลงทุนเข้าลงทุนในพันธบัตรที่มีอายุยาวขึ้นของนักลงทุนต่างชาติ

ยกตัวอย่าง  ในช่วงเดือนเม.ย. 2560 ที่ธปท. ลดวงเงินการออกพันธบัตรระยะสั้น 3 เดือน และระยะ 6 เดือน ลงประเภทละ 10,000 ล้านบาทต่อสัปดาห์ ผลหลังจากนั้นปรากฎว่า นักลงทุนต่างชาติทยอยปรับเพิ่มการถือครองพันธบัตรระยะยาว แม้จะลดการถือครองพันธบัตรระยะสั้นลงก็ตาม

ปัจจัยสำคัญที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะใกล้ๆ นี้ ยังเป็นเรื่องการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเนื่องถึงเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) รวมไปถึงภาพรวมการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ฯ  หากไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ อาจทำให้โอกาสที่จะเห็นเฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพิ่มแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ และอาจมีผลกระทบต่อเนื่องให้เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบที่ค่อนข้างแข็งค่ากว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และเป็นการเพิ่มช่วงบวกการแข็งค่าในปีนี้ต่อเนื่อง หลังจากที่แข็งค่าขึ้นแล้วในขณะนี้ถึง 6.5% นำสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย

ทางด้าน ธปท.ชี้แจงว่า การออกพันธบัตรในเดือน ก.ค. ธปท.พิจารณาการปรับเพิ่มหรือลดวงเงินประมูลพันธบัตรตามความเหมาะสมของสภาพคล่องและความต้องการของตลาดในแต่ละเดือน