ส่งออกพ.ค.หดตัว 5.79% เกินดุลการค้าวูบเพียง 181 ล้านดอลลาร์

HoonSmart.com>>กระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกเดือนพ.ค. หดตัว จุดเด่นสินค้าเกษตร กลุ่มอาหาร ขยายตัวดี  แนะผู้ส่งออกทำประกันความเสี่ยง ลดผลกระทบเงินบาทแข็งค่า   แบงก์กสิกรไทยห่วง ดุลการค้าเกินดุลน้อยกว่าตลาดคาดมาก

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนพ.ค. ส่งออกมีมูลค่า 21,017.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 5.79%  ซึ่งมากกว่าตลาดคาด หดตัว 5% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 20,836.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.64% ดุลการค้าเกินดุล 181.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยรวม 5 เดือนปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.) การส่งออกมีมูลค่า 101,561.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 2.70% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 100,830.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัว 0.99% ดุลการค้าเกินดุล 731.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า การส่งออกเดือนพ.ค. ที่หดตัวลง สอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกและอุปสงค์ของคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัวลงจากข้อพิพาททางการค้า ภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศ-ภูมิภาค เช่น ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในยุโรป เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และขยายตัวได้ดีในหลายตลาดทั้งตลาดสำคัญเดิม อาทิ สหรัฐฯ และอินเดีย และตลาดดาวรุ่งใหม่ เช่น แคนาดา และรัสเซียและ CIS

นอกจากนี้สินค้าเกษตร โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง และกระจายตัวในหลายตลาดทั้งตลาดจีน อาเซียน สหรัฐฯ ไต้หวัน และฮ่องกง สินค้าสำคัญที่ขยายตัวดี
ได้แก่ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และเครื่องดื่ม  สร้างรายได้แก่เกษตรกรและ SME ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก  ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวและน่าจับตามอง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องส่งวิทยุ โทรเลข โทรศัพท์ และโทรทัศน์ และนาฬิกาและส่วนประกอบ ที่เริ่มเห็นทิศทางการขยายตัวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา

แนวโน้มและมาตรการส่งเสริมการส่งออกปี 2562 กระทรวงพาณิชย์มีแผนผลักดันการส่งออก โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ อาทิ กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง อาทิ สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อาทิ สินค้าเกษตร ประมงและอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนพ.ค. แข็งค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 31.50 บาท/ดอลลาร์นั้น มีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตร ซึ่งเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องได้อีก เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. เงินบาทลงไปแตะที่ระดับ 30.94 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นการแข็งค่าสุดในรอบ 6 ปี  ทั้งนี้ ต้องการให้ผู้ส่งออกให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการทำประกันความเสี่ยง รวมทั้งภาครัฐเองที่อาจจะมีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับการส่งออกของไทยด้วย และ ยังต้องการให้รัฐบาลชุดใหม่ ประกาศความชัดเจนในการเดินหน้าเปิดเจรจาเสรีการค้า (FTA) ซึ่งจะเห็นว่าหลายประเทศที่ยังสามารถส่งออกได้ดี  ส่วนหนึ่งเป็นผลจากที่มีการทำข้อตกลง FTA ไว้กับหลายประเทศ

” เราคงไม่หมดหวัง เพราะสินค้าบางตัว ยังไปได้ดี อยากให้มีการลงทุนในสินค้าที่ทันสมัยมากขึ้น เช่น รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็น Consumer trend เราต้องตามให้ทัน” น.ส.พิมพ์ชนกระบุ

น.ส.บรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ยังมั่นใจว่าการส่งออกในปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายล่าสุดที่ตั้งไว้ที่ 3% คิดเป็นมูลค่า 2.6 แสนล้านดอลลาร์ แม้สงครามการค้าอาจจะยังมีอีกนาน แต่ปีนี้มีกิจกรรมในการผลักดันการส่งออกที่ชัดเจน และจะมีรัฐบาลแล้ว

ธนาคารกสิกรไทยระบุว่า การส่งออกหดตัวต่อเนื่อง  ขณะที่การนำเข้าหดตัวลดลงมาที่ 0.64%  ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 2.00%  ส่งผลให้ดุลการค้ากลับมาเกินดุลเพียง 182 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ว่าจะเกินดุล 628 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งนี้ ดุลการค้าในเดือนก่อนขาดดุลถึง 1 ,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ