RATCHกำไรลด40%ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน

ราชบุรีโฮลดิ้งฯกำไรลด 39.9% เหลือ 816 ล้านบาท เหตุขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เตรียม 1.5 หมื่นล้านบาทลงทุนโครงการใหม่

บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) แจ้งผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 โดยระบุว่า มีรายได้ 3,397.34 ลดลง 3.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 3,516.19 ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 816.69 ล้านบาท ลดลง 39.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 1,358.44 ล้านบา โดยกำไรที่ลดลงมีสาเหตุหลักมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน 344.10 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 233 ล้านบาท

นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH เปิดเผยว่า กำไรไตรมาสแรกปีนี้ที่ลดลงมาจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่รายได้จากส่วนแบ่งกำไรกิจการร่วมค้าอยู่ที่ 846 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 60.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีส่วนแบ่ง 526.70 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าหงสามีผลประกอบการดีขึ้น ทำให้บริษัทมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

“ปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากการโรงไฟฟ้า 2 โครงการที่ตั้งอยู่ในออสเตรเลีย รวม 222.95 เมกะวัตต์ ได้แก่ เดือนก.ค.เริ่มรับรู้รายได้จากโครงการพลังงานลมเมาท์เอเมอรัลด์ กำลังผลิตติดตั้ง 180.45 เมกะวัตต์ และเดือนพ.ย.เริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คอลลินสวิลล์ กำลังผลิตติดตั้ง 42.5 เมกะวัตต์ รวมทั้งในเดือนก.พ.2562 จะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน เซน้ำน้อย กำลังผลิตติดตั้ง 410 เมกะวัตต์”นายกิจจากล่าว

นายกิจจา ยังกล่าวว่า ปีนี้ RATCH มีเป้าหมายขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้ได้ 850 เมกะวัตต์ โดยในประเทศได้มุ่งเน้นที่โครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้า ส่วนต่างประเทศ มุ่งเน้นที่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าทั้งโครงการประเภทเชื้อเพลิงฟอสซิล และพลังงานทดแทน ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับไฟฟ้าและพลังงานอื่นๆ โดยบริษัทได้เตรียมเงินเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท

ปัจจุบัน RATCH มีกำลังผลิตตามสัดส่วนรวม 7,552.4 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 6,624.19 เมกะวัตต์ และโครงการมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและพัฒนา 928.21 เมกะวัตต์ โดยเป็นโครงการในประเทศไทย 5,187.21 เมกะวัตต์ ลาว 1,121.81 เมกะวัตต์ ออสเตรเลีย 866.35 เมกะวัตต์ จีน 236 เมกะวัตต์ และอินโดนีเซีย 141.03 เมกะวัตต์