GUNKUL ทุ่มงบ 650 ล้านบาท ส่งบริษัทย่อย “กันกุล พาวเวอร์ ดี เวลลอปเม้นท์” ซื้อหุ้น FEC ต่อยอดงานรับเหมาก่อสร้าง เสริมฐานทัพให้แข็งแกร่ง ส่วนงบ Q1/61 พลิกขาดทุน 109 ล้านบาท ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและรับรู้ค่าธรรมเนียมบอกเลิกสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ
น.ส.โศภชา ดำรงปิยวุฒิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2561 ได้มีมติอนุมัติให้ บริษัท กันกุล พาวเวอร์ ดี เวลลอปเม้นท์ จำกัด (GPD) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ GUNKUL เข้าทำรายการซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ฟิวเจอร์ อีเล็คทริคอล คอนโทรล จำกัด (FEC) จำนวน 10,000,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนการถือหุ้น 100% ของทุนจดทะเบียนที่ออกและชำระแล้ว รวม 10,000,000 หุ้น จากกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน(ผู้ขาย) เพื่อประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า แบบเหนือดิน เคเบิ้ลใต้ดิน และสถานีไฟฟ้า ซึ่งรายการดังกล่าวได้กำหนดมูลค่าในการจ่ายชำระราคาจากการเข้าทำรายการจำนวน 650 ล้านบาท พร้อมแต่งตั้งให้ บริษัทหลักทรัพย์ ไอ วี โกลบอล เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อศึกษาและให้ความเห็นในการเข้าทำรายการซื้อหุ้น FEC
สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในครั้งนี้ ถือเป็นการลงทุนที่สร้างโอกาสในการขยายธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า แบบเหนือดิน เคเบิ้ลใต้ดิน และสถานีไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่อยู่ในช่วงการเติบโตได้ทันที อีกทั้งยังเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุน เพื่อความหลากหลายในธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง และเพิ่มแหล่งที่มาของรายได้ให้มากขึ้น ถือเป็นการลงทุนที่สามารถรับรู้รายได้จากธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้าได้ทันที ขณะที่ FEC เองถือเป็นบริษัทที่มีความพร้อมด้านผลงานและบุคลากร สำหรับธุรกิจรับเหมาก่อสร้างระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทในระยะยาว
ทั้งนี้ กำหนดวันประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 28 มิ.ย.2561 และภายหลังจากที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้น คาดว่าการเข้าทำรายการจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในไตรมาส 3/2561
“การลงทุนในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมให้บริษัทฯ มีอัตราการเติบโตทั้งทรัพย์สิน ผลกำไร และกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของรายได้ของบริษัทฯ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัทฯ และผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ ในระยะยาว การเข้าทำรายการดังกล่าว ถือเป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมืองานก่อสร้างจากรัฐบาล ซึ่งกรอบระยะเวลา 5 ปีงบประมาณ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท จึงมองว่าเป็นโอกาสของกลุ่มบริษัทฯ ในการเข้าร่วมประมูลงาน โดยบริษัทยังคงเดินหน้าต่อไปในการมองหาโอกาสทางธุรกิจ เพื่อต่อยอดรายได้และสร้างฐานธุรกิจของบริษัทฯ ให้แข็งแกร่งและมั่นคงต่อไปในอนาคต” นางสาวโศภชา กล่าว
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2561 ขาดทุนสุทธิ 109.11 ล้านบาท ขาดทุนต่อหุ้น 0.02 บาท จากงวดปีก่อนกำไรสุทธิ 186.11 ล้านบาท กำไรต่อหุ้น 0.03 บาท เนื่องจากบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายดำเนินงานในส่วนของค่าธรรมเนียมการยกเลิกสัญญาสิทธิซื้อขายเงินตราต่างประเทศจำนวน 588.10 ล้านบาทและขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นผลมาจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากการนำเข้าอุปกรณ์เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการโรงไฟ้ากังหันลมจำนวน 3 โครงการ ในรูปสกุลเงินเหรียญของบริษัทฯ ซึ่งการพัฒนาโครงการจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานและมีงบประมาณการนำเจ้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ 3 โครงการกว่า 10,000 ล้านบาท ส่งผลให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนงวดนี้ 56.78 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากไม่รวมรายการดังกล่าวบริษัทจะมีกำไรสุทธิ 535.77 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทฯ มีรายได้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเป้าหมาย