BAY คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ 31.20-31.55 หลังแข็งค่ารอบ 3 เดือน

HoonSmart.com>>แบงก์กรุงศรี คาดแนวโน้มเงินบาทสัปดาห์หนี้กรอบ 31.20-31.55 หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 3 เดือน หลังสงครามการค้าส่งสัญญาณรุนแรงขึ้นลุกลามไปประเทศอื่น

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 31.20-31.55 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 31.63 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทย 1.76 หมื่นล้านบาท และ 4.6 พันล้านบาท ตามลำดับ ในช่วงเปิดการซื้อขายวันแรกของเดือนมิถุนายน เงินบาทแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบกว่า 3 เดือน หลังมีสัญญาณความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้าชั้นนำอื่นๆ ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเพิ่มคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) อาจตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงช่วงกลางปีนี้

ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดเดือนพฤษภาคม ทางด้านเงินยูโรได้รับผลกระทบอย่างจำกัด หลังพรรคการเมืองที่มีนโยบายต่อต้านสหภาพยุโรป (อียู) ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นในการเลือกตั้งสภายุโรปที่ผ่านมา

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า ตลาดการเงินจะจับตาการประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และข้อมูลการจ้างงานเดือนพฤษภาคมของสหรัฐฯ ส่วนประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า การลดดอกเบี้ยของเฟดอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ท่ามกลางสถานการณ์ตึงเครียดทางการค้าโลก และอัตราเงินเฟ้อต่ำของสหรัฐฯ เราตั้งข้อสังเกตว่าสัญญาณเตือนจากตลาดพันธบัตรกำลังสร้างแรงกดดันต่อค่าเงินดอลลาร์ ขณะที่สงครามการค้าขยายวง

ทั้งนี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 และลดลงต่ำกว่าผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 3 เดือนมากยิ่งขึ้น ปฏิกิริยาของตลาดอัตราแลกเปลี่ยนสะท้อนภาพที่แตกต่างจากปี 2561 ซึ่งในครั้งนั้นปัจจัยสงครามการค้าโลกกระตุ้นแรงขายสกุลเงินตลาดเกิดใหม่เป็นหลัก

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ตลาดจะติดตามข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤษภาคม ทางด้านผู้ว่าการ ธปท.ระบุว่าการที่ไทยไม่มีชื่ออยู่ในรายงานล่าสุดของสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเทศที่ถูกจับตามองในเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน เป็นการยืนยันว่าไทยไม่ได้มีนโยบายจัดการค่าเงินเพื่อประโยชน์ทางการค้า อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถวางใจได้เนื่องจากสหรัฐฯ มีการปรับมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่ามี 9 ประเทศที่ต้องจับตามองในเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน ได้แก่ จีน เยอรมัน ไอร์แลนด์ อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม