DIF จ่อลงทุนเพิ่ม 1.58 หมื่นลบ. หนุนผลตอบแทนระยะยาว

HoonSmart.com>>กองทุน DIF เดินหน้าลงทุนเพิ่มครั้งที่ 4 “กรรมสิทธิ์เสาโทรคมนาคม-เส้นใยแก้วนำแสง” มูลค่ารวมไม่เกิน 15,800 ล้านบาท เพิ่มศักยภาพ หนุนอัตราผลตอบแทนระยะยาว เตรียมขออนุมัติที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุน 21 มิ.ย.นี้

นายณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไทยพาณิชย์ จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล หรือ Digital Telecommunications Infrastructure Fund (DIF) เปิดเผยว่า กองทุน DIF เป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่จัดตั้งขึ้นเป็นรายแรกและเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเข้าลงทุนในทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมทั่วประเทศ เช่น เสาโทรคมนาคม ระบบใยแก้วนำแสง อุปกรณ์สื่อสัญญาณ ระบบบรอดแบนด์ ล่าสุด กองทุนฯ ได้เตรียมเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 15,800 ล้านบาท

การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ สอดคล้องกลยุทธ์การสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกองทุนฯ ที่มุ่งแสวงหาโอกาสการเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม โดยเพิ่มเติมมูลค่าทรัพย์สินกองทุนฯ เพื่อจัดหาผลประโยชน์และเพิ่มโอกาสในการสร้างผลตอบแทนการลงทุนให้แก่ผู้ถือหน่วยในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันที่สูงในยุคดิจิทัลที่กำลังจะย่างเข้าสู่ 5G ในอนาคต รับมือกับปริมาณความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี

ปัจจุบันกองทุนฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในเสาโทรคมนาคม 15,271 เสา เจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิการเช่าระยะยาวและสิทธิการรับประโยชน์จากรายได้สุทธิในใยแก้วนำแสงประมาณ 2.7 ล้านคอร์กิโลเมตร และกรรมสิทธิ์ในระบบบรอดแบนด์ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด 1.2 ล้านพอร์ต โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.2562 กองทุนฯ มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 150,289.60 ล้านบาท

นายณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่กองทุน DIF จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จากกลุ่มทรู ประกอบด้วย

1. การลงทุนในกรรมสิทธิ์ในเสาโทรคมนาคมรวม 788 เสา แบ่งเป็นเสาที่ตั้งอยู่บนพื้นดิน 749 เสาและเสาที่ตั้งอยู่บนดาดฟ้าจำนวนประมาณ 39 เสา โดยเสาดังกล่าวพร้อมใช้งานและส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นมาไม่เกิน 1 ปี

2. กรรมสิทธิ์ในใยแก้วนำแสง (Fiber Optic Cable หรือ FOC) ซึ่งปัจจุบันใช้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด ระยะทางประมาณ 1,795 กิโลเมตร (ประมาณ 107,694 คอร์กิโลเมตร)

3. กรรมสิทธิ์ใน FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 315 กิโลเมตร (ประมาณ 40,823 คอร์กิโลเมตร) และประมาณ 617 กิโลเมตร (ประมาณ 37,505 คอร์กิโลเมตร) ตามลำดับ

4. กรรมสิทธิ์ ใน FOC ซึ่งปัจจุบันใช้รองรับเทคโนโลยีระบบ FTTx สำหรับให้บริการอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในเขตพื้นที่ต่างจังหวัด รวมระยะทางประมาณ 2,797 กิโลเมตร (ประมาณ 109,704 คอร์กิโลเมตร)

ทั้งนี้ การเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะทำให้ประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนของกองทุน DIF (Cash Distribution Per Unit หรือ DPU) ภายหลังการเข้าลงทุน ไม่ต่ำไปกว่าการประมาณการเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุน ในกรณีที่กองทุน DIF ไม่ได้เข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จัดทําโดยบริษัทจัดการและตรวจสอบโดยผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตทําประมาณการสําหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563

สำหรับแหล่งเงินที่ใช้ในการลงทุนเพิ่มเติมครั้งนี้ จะมาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนทั้งจำนวน โดยกองทุน DIF จะดำเนินการเพิ่มเงินทุนจดทะเบียนในจํานวนรวมไม่เกิน 10,500,000,000 บาท จากเดิมที่มีทุนจดทะเบียน 96,379,430,540 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หน่วยละ 10 บาท เป็นทุนจดทะเบียนไม่เกิน 106,879,430,540 บาท โดยออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 1,050 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน ซึ่งจะกำหนดการเสนอขายหน่วยลงทุนต่อไป

ทั้งนี้ กองทุน DIF จะเสนอให้ที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนเห็นชอบอนุมัติ ในที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ดิจิทัล ครั้งที่ 1/2562 ที่กำหนดจัดขึ้นในวันที่ 21 มิ.ย. 2562 ตั้งแต่ 09.30 น. โรงแรมแชงกรีล่า หลังกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนครั้งที่ 1/2562 (Record Date) วันที่ 28 พ.ค.2562

นางสาววีณา เลิศนิมิตร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน Investment Banking ธนาคารไทยพาณิชย์ ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 จะเพิ่มศักยภาพและโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมแก่กองทุน DIF รวมถึงเพิ่มการกระจายตัวของทรัพย์สินที่ครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น รองรับแนวโน้มการขยายตัวของภาพรวมธุรกิจโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย นอกจากนี้ยังช่วยเสริมสภาพคล่องซื้อขายหน่วยลงทุนและเพิ่มโอกาสที่ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวอีกด้วย

ส่วนผลการดำเนินงานกองทุน DIF ย้อนหลัง 3 ปี (ปี 2559 – 2561) สามารถจ่ายเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนแก่ผู้ถือหน่วยได้อย่างสม่ำเสมอ โดยประกาศจ่ายเงินปันผลส่วนแบ่งกำไรต่อหน่วยลงทุนทุกไตรมาส รวมต่อปีเป็นอัตรา 0.956, 0.975 และ 1.016 บาทต่อหน่วยตามลำดับ

ทั้งนี้ คาดว่าภายหลังการเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กองทุน DIF จะสามารถจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ลงทุนเพิ่มเติมโดยการให้เช่าระยะยาวแก่ผู้เช่าหลักคือกลุ่มทรู ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมรายใหญ่ของประเทศ