สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ชี้ธนาคารกลางทั่วโลกเล็งใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย

HoonSmart.com>>ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดคาดเศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นในครึ่งปีหลังของปี 2562 จากปัจจัยต่างๆ ที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับธนาคารกลางทั่วโลกมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายในขณะที่เงินเฟ้อยู่ในระดับควบคุมได้

“ความกังวลต่อความเสี่ยงสำคัญที่ได้พูดถึงในปีก่อนลดลง ความขัดแย้งทางการค้าสหรัฐ-จีนที่ส่งสัญญาณดีขึ้น ราคาน้ำมันกลับมาอยู่ในรอบขาขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันของอัตราแลกเปลี่ยนที่มีต่อตลาดเกิดใหม่ ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายแห่งมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบบรรยากาศโดยรวมอีก อาทิเช่น กรณี Brexit หรือการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ยังไม่ลงตัว”ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด ระบุ ในงานวิจัย

ดร. ทิม ลีฬหะพันธุ์

สำหรับภาพรวมการเติบโตสำหรับภูมิภาคอาเซียนยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากความแข็งแกร่งของการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งขับเคลื่อนโดยการใช้จ่ายในโครงการโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย การเติบโตด้านการส่งออกชะลอตัวลง แต่ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนที่ผ่อนคลายลง ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน น่าจะช่วยให้การส่งออกในครึ่งปีหลังดีขึ้น แรงกดดันต่อเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยธนาคารกลางสำคัญหลายแห่ง (รวมทั้งธนาคารกลางสหรัฐ) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น โดยคาดว่าธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียน อาทิเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าธนาคารกลางหลายแห่งมีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย แต่เราไม่คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2564 เป็นอย่างน้อย เว้นแต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจะทวีความรุนแรงขึ้น

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่ตามกระแสการใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายของประเทศอื่น เศรษฐกิจไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความยืดหยุ่นรองรับความไม่แน่นอนทางการเมืองมาได้โดยตลอด เดือนพฤษภาคมนี้น่าจะมีพัฒนาการสำคัญเกิดขึ้นสำหรับประเทศไทย เราอาจจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นแต่ความไม่แน่นอนยังคงอยู่ ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคมที่ยังไม่สามารถสรุปได้อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความล่าช้าออกไป อีกทั้งส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในภาพรวม และจากผลการเลือกตั้งที่ยังไม่ชัดเจน จึงเป็นเรื่องยากที่จะคาดการณ์รูปแบบการจัดตั้งรัฐบาล ด้วยเหตุนี้ เราคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะยังคงเฝ้าติดตามด้วยความระวัง

“ธนาคารแห่งประเทศไทยน่าจะเฝ้าติดตามด้วยความระวังในระยะนี้ โดยรอความชัดเจนจากสถานการณ์ทางการเมือง เราคิดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงินจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.75 ในการประชุมเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน” ดร.ทิม ลีฬหะพันธุ์ นักเศรษฐศาสตร์ประจำธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) จำกัด มหาชน กล่าว

นอกจากนี้เราไม่คาดว่าสถานการณ์การเมืองในปัจจุบันจะเปลี่ยนเป็นความไม่สงบ และเศรษฐกิจภายในประเทศของไทยได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ามีความยืดหยุ่น ดังนั้น เราไม่คิดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะดำเนินนโยบายการเงินตามทิศทางนโยบายผ่อนคลายของธนาคารอื่นทั่วโลก และไม่น่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วง 2-3 ปีนี้

“อันที่จริง เรายังคงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินภายในประเทศ” ดร.ทิม กล่าวเสริม

ในช่วงครึ่งปีหลัง เราคาดว่าความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่น่าจะชัดเจนขึ้นจะเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยปรับนโยบายการเงินให้เข้าสู่ภาวะปกติ เรายังคงคาดว่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ในไตรมาสที่ 3 การดำเนินนโยบายการเงินที่อาจจะแตกต่างจากทิศทางของโลกต้องมีปัจจัยภายในประเทศที่มีน้ำหนักเพียงพอ และธนาคารแห่งประเทศไทยต้องสามารถอธิบายต่อตลาดให้เข้าใจได้

สำหรับผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากความไม่มั่นคงทางการเมืองต่อเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองและความไม่แน่นอนของนโยบายยังไม่ส่งผลกระทบถึงปัจจัยพื้นฐาน ตราบใดที่ผลการเลือกตั้งยังไม่ชัดเจน เป็นเรื่องยากที่จะประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจของการเลือกตั้ง ความเข้มข้นของความเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ แต่เรายังไม่เห็นสัญญาณว่าพัฒนาการทางการเมืองในปัจจุบันจะส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

“เรายังคงประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 4 ในปีนี้ รวมทั้งคงประมาณการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจมหภาคอื่นๆ การบริโภคภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี และการฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง (แม้จะหดตัวลงเล็กน้อยในระยะสั้นๆ ที่ผ่านมา)” ดร. ทิม กล่าว