PTGจ่อลงทุนปาล์มคอมเพล็กซ์เฟสสอง1.6พันล้าน

PTG คาดรับรู้รายได้ “ปาล์มคอมเพล็กซ์” ปีนี้ 100 ล้านบาท เตรียมลงทุนอีก 1.6 พันล้านบาท ขยายกำลังผลิตเท่าตัว ก่อนนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ปี 64 พร้อมรุกขยายปั๊มพีทีในกรุงเทพและปริมณฑลเป็น 400 แห่ง

นายรังสรรค์ พวงปราง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมิ.ย.เป็นต้นไป โครงการปาล์มคอมเพล็กซ์ จ.ชุมพร ของบริษัท พีพีพี กรีน คอมเพล็กซ์ (PPP) ซึ่ง PTG ได้ร่วมลงทุนกับพันธมิตร จะเดินเครื่องจักรอย่างเต็มกำลัง เพื่อผลิตน้ำมันไบโอดีเซล บี100 ที่ระดับ 4.5 แสนลิตรต่อวัน น้ำมันปาล์มเพื่อบริโภค (โอเลอีน) 2 แสนลิตรต่อวัน รวมทั้งผลิตกลีเซอรีนบริสุทธิ์ 99.7% ซึ่งเป็นเกรดที่ใช้สำหรับการผลิตยา

ขณะเดียวกัน ปาล์มคอมเพล็กซ์แห่งนี้ยังมีแท็งค์เก็บน้ำมันปาล์มดิบ 50 แท็งค์ หรือ 1 แสนตัน หรือคิดเป็น 25% ของแท็งค์เก็บน้ำมันปาล์มดิบทั้งประเทศ ทำให้สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงของซัพพลายได้ดี

รังสรรค์ พวงปราง

“ไบโอดีเซลบี 100 ที่ผลิตได้จะขายให้ PTG และขนส่งไปยังโรงกลั่นไทยออยล์ (TOP) เพื่อผสมเป็นน้ำมันไบโอดีเซลบี 7 แล้วขายในปั๊มพีที ทั้งนี้ แม้ว่าขณะนี้ PTG มีความต้องการใช้ไบโอดีเซลบี 100 ที่ 5-6 แสนลิตรต่อวัน และความต้องการเพิ่มขึ้นทุกปี แต่ PTG ยังรับซื้อทั้งหมดไม่ได้ เพราะต้องซื้อบางส่วนจากคู่ค้าเดิม คือ บริษัท น้ำมันพืชปทุมธานี ดังนั้น บี 100 ที่เหลือจะขายให้โรงกลั่นอื่นๆ ส่วนน้ำมันโอเลอีนจะขายให้ผู้ผลิตน้ำมันปาล์มบรรจุขวด”นายรังสรรค์ระบุ

นายรังสรรค์ ยังระบุว่า ปาล์มคอมเพล็กซ์จะมีรายได้เต็มปีประมาณ 5-6,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรปีละ 600-700 ล้านบาท โดย PTG ซึ่งถือหุ้น PPP ในสัดส่วน 40% จะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรประมาณ 100 ล้านบาทในปีนี้ เพราะมีเดินเครื่องเพียงครึ่งปี และจะเพิ่มเป็น 240 ล้านบาทในปีหน้า อีกทั้ง PPP มีแผนจะลงทุนเพิ่มกำลังการผลิตบี 100 เป็น 9 แสนลิตรต่อวัน โดยใช้เงินลงทุน 1,600-1,800 ล้านบาท จากนั้นจะนำ PPP เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2564

สำหรับปีนี้ PTG ตั้งเป้าสร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20-25% หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่มีรายได้ 8.49 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าจะมีกำไรก่อนหักภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เพิ่มขึ้น 40-45% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้และ EBITDA ในปีนี้ ส่วนใหญ่จะยังมาจากธุรกิจน้ำมัน แต่บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนกำไรจากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันเป็น 10% ของกำไรสุทธิ จากเดิมที่มีสัดส่วนกำไรเพียง 3%

“เรายังเดินหน้าหาพันธมิตรและเข้าร่วมลงทุนต่อเนื่อง โดยอยู่ระหว่างเจรจากับ 2 เจ้า คือ ธุรกิจปั๊ม LPG ซึ่ง LPGมีค่าการตลาดดีกว่าน้ำมัน และธุรกิจขนส่งและโลจีสติกส์ทั่วไป จากก่อนหน้านี้ที่เราเข้าซื้อหุ้นบริษัท จิตรมาส แคเทอริ่ง 70% เพื่อลงทุนธุรกิจครัวกลางและขยายสาขาครัวจิตรมาสในปั๊มพีที รวมทั้งตั้งบริษัทร่วมทุนกับบริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ (BAFS) เพื่อประกอบการกิจการปั๊มน้ำมันหน้าคลังน้ำมัน 3 แห่ง”นายรังสรรค์กล่าว

นายรังสรรค์ กล่าวว่า ณ สิ้นปีแล้ว PTG มีสาขาปั๊มพีที 1,609 แห่ง มากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากบริษัท ปตท. (PTT) ที่มีปั๊มน้ำมัน 1,729 แห่ง แต่ยอดขายน้ำมันของ PTG อยู่ที่ 3.3 พันล้านลิตร หรือเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศ ต่ำกว่าอันดับ1 คือ PTT ที่มียอดขายน้ำมันปีที่แล้ว 1.23 หมื่นล้านลิตร ถึง 3 เท่าตัว ดังนั้น กลยุทธ์ในการเพิ่มยอดขายของน้ำมันของ PTG จะเน้นขยายสาขาในกรุงเทพและปริมณฑลให้ได้ 400 แห่งจากปัจจุบัน 120 แห่ง

“ในต่างจังหวัดเรามีแผนขยายปั๊มให้ได้ 1 ปั๊มต่อ 2 ตำบล และเราจะรุกขยายปั๊มในกรุงเทพและปริมณฑลเพิ่ม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีกำลังซื้อมาก โดยใช้วิธีเช่าพื้นที่ปั๊มจากลูกค้าเฟรนไชส์ของปั๊มน้ำมันแบรนด์ดังอื่นๆที่ทยอยหมดสัญญา แต่ลูกหลานไม่อยากทำต่อหรือแข่งขันไม่ได้ ซึ่งในเร็วๆนี้จะมีปั๊มแบรนด์อื่น 1 แห่งบนถนนรัชดาภิเษกที่จะเปลี่ยนเป็นปั๊มพีที ขณะที่ PTG ตั้งเป้าว่าจะเพิ่มปั๊มพีทีในกรุงเทพและปริมณฑล 20% ของจำนวนปั๊มที่มีทั้งหมด 2,000 แห่ง รวมทั้งจะรีแบรนด์ปั๊มพีทีให้มีความทันสมัยและเหมาะกับคนชั้นกลาง”นายรังสรรค์ระบุ