ความจริงความคิด : ผ่อนบ้านทุกเดือน สุดท้ายบ้านโดนยึด

โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP

หลายคนอ่านแล้วคงตกใจ เป็นไปได้ไง เป็นไปได้นะ และเกิดขึ้นแล้วกับกรณีศึกษากรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในปี 2554-2556 ที่ผู้ผ่อนบ้านกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ท่านหนึ่ง ชำระค่าผ่อนบ้านช้าเกินกำหนด แม้จะผ่อนบ้านทุกงวด แต่เงินที่ผ่อนไม่พอชำระค่างวด สุดท้ายบ้านโดนยึด

หนี้บ้านเป็นหนี้ก้อนใหญ่ที่ใช้ระยะเวลาผ่อนชำระยาวนาน 10 – 30 ปี ด้วยภาระที่ยาวนาน ความเสี่ยงที่จะขาดผ่อนชำระหนี้ หรือผิดนัดชำระหนี้ก็มีสูง

แม้ว่าหนี้บ้านจะเป็นหนี้ที่คิดดอกเบี้ยยุติธรรมที่สุด คือ ดอกเบี้ยจะคิดจากยอดเงินกู้ที่มีอยู่เท่านั้น เพราะในการผ่อนบ้านนั้นธนาคารจะคิดดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก โดยดอกเบี้ยของงวดถัดไปจะคิดจากยอดหนี้คงเหลือล่าสุด เมื่อผ่อนชำระงวดบ้าน เงินที่ได้รับจะถูกหักดอกเบี้ยที่คำนวณไว้ออกก่อน และเงินส่วนที่เหลืออยู่จึงนำไปลดเงินต้น ออกทำให้ยอดหนี้คงเหลือค่อยๆ ลดลงไปเรื่อยๆ ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ดอกเบี้ยบ้านจึงคิดคำนวณเป็นรายวัน เมื่อเกิดการผิดนัดผ่อนชำระหนี้บ้านก็คือ ดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงเหลือล่าสุดจะถูกคำนวณออกมาและไม่ถูกหักออกไปเพราะไม่มีเงินผ่อนชำระเข้ามา เช่นเดียวกับเงินต้นที่ไม่ถูกหักลดลงด้วยเหตุผลเดียวกัน และปิดท้ายงวดไปด้วยการที่ยอดหนี้คงเหลือเท่ากับงวดที่ผ่านมา ดังตารางด้านล่าง

จากตารางด้านบนจะเห็นว่าผู้กู้ผ่อนงวดละ 34,700 บาท โดยในงวดที่ 17 และงวดที่ 18 นั้นเป็นการผ่อนครบพอดีตามจำนวนเงินชำระต่องวดที่กำหนดไว้ตามสัญญาสินเชื่อบ้าน จะเห็นในจำนวนเงินที่ชำระแต่ละงวดนี้จะถูกนำไปหักดอกเบี้ยก่อนตามจำนวนที่แสดงในช่องดอกเบี้ย ดังนั้นสำหรับในสองงวดนี้ดอกเบี้ยสะสมจึงเท่ากับ 0 ซึ่งหมายถึงไม่มีดอกเบี้ยสะสมอยู่ และเมื่อหักดอกเบี้ยแล้วเงินที่เหลือจะนำไปไปแสดงในช่องเงินต้น ซึ่งคือจำนวนเงินที่จะไปหักออกจากยอดหนี้คงเหลือทำให้ยอดหนี้คงเหลือลดลงเรื่อยๆ

การผิดนัดผ่อนชำระหนี้บ้านเกิดขึ้นในงวดที่ 19 โดยผู้กู้ไม่ผ่อนชำระเลย ทำให้ดอกเบี้ย 18,949.48 ที่คำนวณออกมาจากยอดหนี้คงเหลือ ณ สิ้นงวดที่ 18 ซึ่งเท่ากับ 4,853,726.81 บาท ยังคงอยู่และเมื่อไม่ได้รับการชำระก็จะย้ายไปอยู่ในช่องดอกเบี้ยสะสม เมื่อไม่มีการผ่อนชำระก็ทำให้ไม่มีเงินไปตัดเงินต้นทำให้ช่องนี้เท่ากับ 0 และจบงวดที่ 19 ด้วย ยอดหนี้คงเหลือเท่ากับยอดหนี้คงเหลือสิ้นงวดที่ 18

ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากดอกเบี้ยสะสม

จากตารางแสดงให้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทางการเงิน หลังจากที่ผู้กู้ขาดผ่อนชำระหนี้บ้านไปหนึ่งงวดในงวดที่ 19 แล้วผู้กู้กลับมาผ่อนต่อในงวดที่ 20 ในจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวดเท่าเดิม ผลกระทบแรกที่พบจากการไม่ผ่อนบ้านก็คือดอกเบี้ยในงวดถัดไป โดยพบว่าดอกเบี้ยในงวดที่ 20 ซึ่งจะหักออกจากเงินผ่อนชำระในงวดนี้เท่ากับ 37,898.96 บาท ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยในงวดก่อนหน้าอย่างมาก สาเหตุเป็นเพราะดอกเบี้ยในงวดที่ 20 นั้น นอกจากดอกเบี้ยจากยอดหนี้คงเหลือในงวดที่ 19 จำนวน 18,949.48 บาท แล้วก็ยังรวมกับดอกเบี้ยสะสมในงวดที่ 19 อีก 18,949.48 บาท ด้วย จากการที่ไม่มีการผ่อนชำระหนี้ในงวดที่ 19 ทำให้ดอกเบี้ยในงวดที่ 20 เท่ากับ 18,949.48 + 18,949.48 = 37,898.96 บาท สังเกตว่าธนาคารจะไม่นำดอกเบี้ยค้างชำระไปทบรวมกับยอดหนี้คงเหลืออีกในการคำนวณดอกเบี้ยงวดถัดไป

ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับยอดหนี้คงเหลือ

จากผลกระทบแรกนี้เองสามารถส่งผลกระทบถัดไปได้คือ การที่ดอกเบี้ยสูงกว่าจำนวนเงินผ่อนชำระต่องวด ซึ่งหมายถึงจำนวนเงินที่ผู้กู้ผ่อนในงวดถัดมานั้น ถึงแม้จะผ่อนเต็มงวดก็ไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ จากในตารางคือผ่อนต่องวดคือ 34,700 บาท แต่ดอกเบี้ยของงวดนั้นคือ 37,898.96 บาท ทำให้เมื่อนำเงินผ่อนมาหักดอกเบี้ยออกแล้ว ยังมีดอกเบี้ยค้างชำระในงวดอยู่อีก 3,198.96 บาท ซึ่งดอกเบี้ยนี้จะกลายเป็นดอกเบี้ยสะสมที่จะไปรวมกับดอกเบี้ยในงวดถัดไป เมื่อเงินผ่อนไม่พอกับดอกเบี้ยจึงไม่มีการไปตัดเงินต้น และทำให้ยอดหนี้ไม่ได้ลดลงเลย ดังตารางด้านล่าง


จากตารางแสดงการผ่อนงวดที่ 21 จะพบว่าดอกเบี้ยสะสมจากงวดที่ 20 เมื่อรวมกับดอกเบี้ยของงวดที่ 21 แล้วจะเท่ากับ 18,949.48 + 3,198.96 = 22,148.14 แต่เมื่อรวมกันแล้วดอกเบี้ยของงวดที่ 21 นั้นยังน้อยกว่าจำนวนเงินผ่อนต่องวด ทำให้ในงวดนี้สามารถชำระดอกเบี้ยทั้งหมดได้ และยังเหลือเงินไปหักเงินต้น ซึ่งทำให้ยอดหนี้ลดลงได้ในท้ายที่สุด

ผลกระทบจากการปรับอัตราดอกเบี้ย

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้กู้ควรทราบก็คือ หากมีการผิดนัดผ่อนชำระหนี้เกิดขึ้นแล้ว ธนาคารมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดได้ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยตามประกาศของธนาคาร ซึ่งเงื่อนไขในส่วนนี้ธนาคารจะได้ชี้แจงแก่ผู้กู้ไว้ล่วงหน้าแล้วโดยจะระบุเอาไว้ในสัญญาเงินกู้บ้าน ทั้งนี้เงื่อนไขจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่ง ผู้กู้ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งหากมีการปรับอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ดอกเบี้ยที่ผู้กู้ต้องชำระเพิ่มขึ้นกว่าเดิมและเป็นการยากที่ผู้กู้จะสามารถผ่อนดอกเบี้ยที่สะสมอยู่ให้หมดได้

จากตัวอย่างที่เรานำมาเสนอให้ดูกันในครั้งนี้นั้นอาจจะดูเหมือนว่าการขาดผ่อนบ้านเพียงไม่กี่งวดนั้นไม่เป็นอันตรายต่อสถานะทางการเงินของผู้กู้ แต่ความจริงแล้วจะมีผลอย่างมากโดยเฉพาะในกรณีที่ขาดผ่อนจนกระทั่งเงินผ่อนนั้นไม่เพียงพอที่จะจ่ายดอกเบี้ย เพราะนอกจากจะทำให้เกิดดอกเบี้ยสะสมที่พอกพูนขึ้น ก็ยังทำให้ไม่มีเงินเหลือไปหักเงินต้น ยอดหนี้คงเหลือจึงไม่ลดลง และในที่สุดแล้วดอกเบี้ยก็จะท่วมท้นจนมากเกินกว่าที่จะผ่อนชำระได้ไหวในที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก K- Expert ธนาคารกสิกรไทย