บริษัทขนาดใหญ่โชว์กำไรโต มาร์จิ้นเพิ่ม ร้าน 7-11 ลูกค้าเข้าเยอะ ยอดขายสาขาเดิมดีขึ้น 5.6% เบอร์ลี่ยุคเกอร์ควงโฮมโปรเติบโต ขณะที่หุ้นกลุ่มค้าปลีกได้รับอานิสงส์เต็มๆจากกม.งบกลางปี 1.5 แสนล้านบาททีประกาศใช้แล้ว
ในไตรมาส 1/2561 ที่ผ่านมา บริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น การเปิดสาขาและการใช้กลยุทธ์ทางการตลาด มาจากรายได้เติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงประสิทธิภาพในการควบคุมต้นทุนทำให้อัตรากำไรขั้นต้น(มาร์จิ้น)ดีขึ้น
บริษัท ซีพี ออลล์ หรือ CPALL ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อ 7-11 ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ มีกำไรสุทธิ 5,416 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 652 ล้านบาทหรือประมาณ 13.68% เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิ 4,764 ล้านบาท โดยรายได้รวมเติบโต9% เป็นจำนวน 128,046 ล้านบาท ทั้งจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและบริษัทสยามแม็คโคร โดยเฉพาะยอดขายสาขาเดิมของ 7-11 ที่เพิ่มขึ้นถึง5.6% จากปีที่ผ่านมาเติบโตประมาณ 1-2% เท่านั้น
“กำไรที่ดีขึ้นเป็นไปตามกลยุทธ์ในการขยายสาขารองรับการพัฒนาวิถีการดําเนินชีวิตของลูกค้า ให้ สามารถเข้าถึงสินค้าได้อย่างสะดวก และการนําเสนอสินค้าและบริการได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม”บริษัท ซีพี ออลล์ ระบุ
ทางด้านบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC)มีกำไรสุทธิ 1,445 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 481 ล้านบาทหรือ พุ่งขึ้นถึง 49.89% เทียบกับกำไรสุทธิ 964 ล้านบาท รายได้รวมโตขึ้น 4.7%เป็น41,075 ล้านบาท จากยอดขายและบริการรวมถึงการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เช่า มาร์จิ้นเพิ่มจาก 18.5% เป็น 18.9%
บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์(HMPRO) มีกำไรสุทธิ 1,248 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 202 ล้านบาทหรือ 19.31% รายได้เติบโต 4.11%เป็นจำนวน 15,900 ล้านบาท จากการควบคุมและบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้มีประสิทธิภาพ และการปรับเปลี่ยนกลุ่มสินค้าให้ครบทุกกลุ่มแม้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคในภาคการเกษตรยังคงชะลอตัว ทำให้ยอดขายในบางจังหวัด รวมถึงธุรกิจเมกา โฮม ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่คาดไว้
อย่างไรก็ตามบริษัทที่ทำธุรกิจค้าปลีกบางแห่งมีกำไรสุทธิ เช่นบริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท (FN)
สำหรับการลงทุนในหุ้นค้าปลีก มีนักวิเคราะห์หลายรายแนะนำเลือกซื้อหุ้น เพราะได้อานิสงส์จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่คาดว่าจะ เติบโตไม่ต่ำกว่า 4% และการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกประมาณกลางเดือนมิ.ย.นี้
บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ สำรวจพบ3 ธุรกิจได้ประโยชน์จากถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก คือกลุ่มสื่อ ร้านอาหารและค้าปลีกในส่วน หุ้นค้าปลีกที่จะได้รับประโยชน์ และมีการจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย ได้แก่ 1.HMPRO 2.ROBINS และ 3.CPALL
ขณะที่เมื่อวันที่ 13 พ.ค. เว็ปไซด์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจําปีงบประมาณ พ.ศ.2561 พ.ศ.2561 กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท
แบ่งเป็นงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 รายการ วงเงิน 100,358 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.ค่าใช้จ่ายส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชน 4,600 ล้านบาท 2.จัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ปฏิรูปโครงสร้างการผลิตภาคเกษตร 24,300 ล้านบาท 3.จัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์เสริมสร้างศักยภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิต 21,078 ล้านบาท
4.จัดสรรตามแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชน 50,378 ล้านบาท เช่น กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 20,000 ล้านบาท กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก 13,872 ล้านบาท และแผนงานยุทธศาสตร์ส่งเสริมเศรษฐกิจและพัฒนาศักยภาพชุมชนของกระทรวงมหาดไทย 20,000 ล้านบาท
“รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินในการดําเนินการตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม วงเงิน 100,385 ล้านบาท”เหตุผลแนบท้ายพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมฯระบุ
สำหรับงบส่วนที่เหลือ 49,641 ล้านบาท จะตั้งเป็นรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เนื่องจากได้มีการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเงินเบี้ยหวัด บําเหน็จ บํานาญ และค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ระบุก่อนหน้านี้ว่า หาก พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 1.5 แสนล้านบาท มีผลบังคับใช้ จะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศ โดแนะนำซื้อหุ้นกลุ่มค้าปลีก ได้แก่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) บริษัท สยามโกลบอลเฮ้าส์ (GLOBAL) และบริษัท โรบินสัน (ROBINS) ซึ่งราคายังมี Laggard อยู่ โดยเฉพาะ ROBINS ราคาถือว่าถูกที่สุดในกลุ่มพาณิชย์ และปีนี้คาดว่ากำไรจะเติบโตที่ 16%