โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
เป็นที่ทราบกันดีว่า ดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ถ้าไม่เกิน 20,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี โดยตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้(ฉบับที่ 55) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักร ที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ กำหนดเป็นหลักเกณฑ์ว่าในแต่ละปีภาษี (ปฏิทิน) การพิจารณายอดดอกเบี้ยออมทรัพย์นั้นให้มองตามเลขบัตรประชาชนเป็นหลัก ไม่สำคัญว่าฝากกี่บัญชีในแต่ละธนาคาร และ
• หากผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์จากธนาคารใดธนาคารหนึ่งเกิน 20,000 บาท ให้ธนาคารเป็นผู้หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%
• หากผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยออมทรัพย์จากทุกธนาคารรวมกันเกิน 20,000 บาท ให้ผู้ฝากเงินมีหน้าที่แจ้งแก่ธนาคารผู้จ่ายดอกเบี้ยดังกล่าว เพื่อหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
ปรากฏว่ามีหลายคนโดยเฉพาะพนักงานธนาคารเข้าใจผิดว่า เงื่อนไขดอกเบี้ยไม่เกิน 20,000 บาทคิดเฉพาะแต่ละบัญชีเงินฝากเท่านั้น จึงแนะนำให้ผู้ฝากเงินเปิดบัญชีเงินฝากออมทรัพย์หลายๆบัญชีและบริหารให้ดอกเบี้ยอย่าให้เกิน 20,000 บาทเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษี 15% ดังกล่าว
จึงเป็นเหตุให้เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2562 สรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 344) เปลี่ยนเงื่อนไขสำหรับการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ที่ไม่เกิน 20,000 บาท ดังนี้
• ผู้มีเงินได้ซึ่งได้รับดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝาก ต้องยินยอมให้ธนาคารทุกธนาคารซึ่งเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยและผลตอบแทนเงินฝากนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากของผู้มีเงินได้ต่อกรมสรรพากร
• ผู้มีเงินได้ต้องไม่นำดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนเงินฝากที่ได้รับไม่ว่าทั้งหมด หรือบางส่วนไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สรุป คือ ดอกเบี้ยถ้าไม่เกิน 20,000 บาท หากต้องการยกเว้นภาษีดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ ต้องยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยของเราให้สรรพากร แต่หากดอกเบี้ยเกิน 20,000 บาท ไม่ว่าจะยอมให้ธนาคารนำส่งข้อมูลดอกเบี้ยหรือไม่ ก็ต้องเสียภาษี 15% เช่นเดิม
แสดงว่าคนที่ถูกกระทบของกฎหมายนี้ หากมองที่อัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ 0.5% เท่ากับผู้ที่มีเงินฝากไม่เกิน 4 ล้านบาท จากข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทย ณ กุมภาพันธ์ 2562 จำนวนบัญชีเงินฝากที่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทมีถึง 98.47% ของจำนวนบัญชีเงินฝากทั้งประเทศ มีจำนวนเงินฝากประมาณ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นเงินฝากต่อบัญชีประมาณ 30,000 บาท
แสดงว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ คือคนส่วนใหญ่ของประเทศ อาจเป็นเด็กที่พ่อแม่ฝากเงินให้ คนทำงานที่เป็นหนี้ (ภาระหนี้ครัวเรือนไทยปี 2561 อยู่ที่ 78.6% ต่อ GDP ซึ่งคงฝากออมทรัพย์เป็นหลัก เพื่อสามารถถอนมาชำระหนี้ได้) หรือ คนที่ไม่มีความรู้ด้านการเงินมาก (หากมีความรู้ด้านการเงินมาก คงลงทุนอย่างอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่มากกว่า) ฯลฯ แ ละมีความเป็นไปได้สูงที่ว่า คนเหล่านี้คงไม่ได้มาแจ้งให้ธนาคารส่งข้อมูลให้สรรพากร เมื่อคนเหล่านี้ไม่ได้แจ้งให้ธนาคารส่งข้อมูล ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% โดยอัตโนมัติ เท่ากับดอกเบี้ยออมทรัพย์ที่ได้รับจริงจะเหลือเพียง 0.425% เท่านั้น
สำหรับการพิจารณาบัญชีผู้มีเงินได้ที่ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการบริหารเงินนั้น ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55) ให้ถือตามหลักเกณฑ์ดังนี้
(1) ในกรณีที่สามีภริยาเป็นผู้ฝากเงินร่วมกันหรือแยกกัน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของสามี
(2) ในกรณีที่ความเป็นสามีภริยาตาม (1) มิได้มีอยู่ตลอดปีภาษี ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล
(3) ในกรณีบิดาและหรือมารดาและบุตรผู้เยาว์เป็นผู้ฝากเงินร่วมกันให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบิดาหรือของมารดาผู้ใช้อำนาจปกครองแล้วแต่กรณี หรือเป็นเงินได้ของบิดาในกรณีบิดามารดาใช้อำนาจปกครองร่วมกัน บุตรผู้เยาว์ในวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วยโดยอนุโลม
(4) กรณีบิดาและหรือมารดาเป็นผู้ฝากเงินเพื่อบุตรผู้เยาว์ ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของบุตรผู้เยาว์ บุตรผู้เยาว์ในวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงบุตรบุญธรรมที่เป็นผู้เยาว์ด้วยโดยอนุโลม
(5) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลเป็นผู้ฝากเงิน ให้ถือว่าเงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น