โดย…สาธิต บวรสันติสุทธิ์, CFP
วันหยุดยาวที่ผ่านมา หลายคนจึงมีโอกาสกลับไปเยี่ยมคุณพ่อคุณแม่ พาท่านไปกินข้าว ซื้อของให้ท่าน วันนี้จึงขอเสนอของขวัญอย่างหนึ่งสำหรับลูกกตัญญูที่จะได้ทดแทนคุณพ่อคุณแม่ (รวมถึงพ่อแม่ของคู่สมรส) ซึ่งก็คือ การดูแลสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ให้ท่านมีสุขภาพที่แข็งแรง
แต่เนื่องจากท่านอายุมากขึ้น โอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยก็มีมากขึ้น ซ้ำค่ารักษาพยาบาลก็แพงขึ้นจนเราต้องกุมขมับ (ค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยแพงขึ้นปีละ 7% – 8%) ทำอย่างไรดีพ่อแม่เราเราก็รัก อยากให้ท่านหายเจ็บหายป่วย แต่ติดปัญหาเรื่องเงิน (เชื่อมั๊ย ปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลนี่ยิ่งใหญ่มาก เพราะที่อเมริกา 50% ของคนล้มละลายที่นั่นมีสาเหตุมาจากไม่มีเงินพอจ่ายค่ารักษาพยาบาล)
วิธีหนึ่งที่จะช่วยเราเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับคุณพ่อคุณแม่ได้ ก็คือ การซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่ท่านเลย ซึ่งเรื่องนี้ ทางรัฐบาลท่านก็เข้าใจดี และส่งเสริมให้พวกเราได้ทำหน้าที่ลูกกตัญญูได้อย่างเต็มที่ จึงได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อคุณแม่
โดยตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 162) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพพ่อแม่ของผู้มีเงินได้ รวมทั้งพ่อแม่ของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ได้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ ให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร เพื่อเอาประกันภัยสำหรับพ่อแม่ของผู้มีเงินได้ รวมทั้งพ่อแม่ของสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้ ตามจำนวนเบี้ยประกันภัยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ในปีภาษีนั้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนี้ กรมสรรพากรก็ไม่ได้ให้ง่ายๆซะทีเดียว แต่มีหลักเกณฑ์กำหนดดังนี้
• พ่อหรือแม่แต่ละคนมีเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ขอยกเว้นภาษีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท ไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาท พ่อหรือแม่คนไหนมีเงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีไหน ลูกก็สามารถนำเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้ไปยกเว้นภาษีได้ อ้อ มีหลายคนเข้าใจผิดว่าพ่อ แม่ ต้องอายุเกิน 60 ปี จริงๆพ่อแม่จะอายุเท่าไหร่ก็ได้ ขอแค่เงินได้ไม่เกิน 30,000 บาทในปีภาษีนั้นก็พอ
• ผู้มีเงินได้หรือสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้จะต้องเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย (ลูกบุญธรรมไม่มีสิทธิหักลดหย่อน)
• ผู้มีเงินได้ 1 คนสามารถใช้สิทธิลดหย่อนเบี้ยประกันสุขภาพพ่อแม่ได้ตามที่จ่ายจริงสำหรับ พ่อแม่ทุกคนรวมกัน สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาทเท่านั้น คือ มองที่ผู้มีเงินได้เป็นหลัก ตรงนี้เป็นเรื่องที่คนมักจะเข้าใจผิดกันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่ว่าลูกแต่ละคนสามารถยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อ 15,000 บาท และแม่ 15,000 บาท
• กรณีผู้มีเงินได้หลายคนร่วมกันทำประกันสุขภาพสำหรับพ่อแม่ ให้ผู้มีเงินได้ทุกคนได้รับยกเว้นภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยเบี้ยประกันภัยที่ผู้มีเงินได้ร่วมกันจ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ตามส่วนจำนวนผู้มีเงินได้
หมายถึงลูกทุกคนรวมกันสามารถยกเว้นเงินได้สำหรับประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อได้ 15000 บาท และแม่ 15,000 บาท การยกเว้นเงินได้ ก็เฉลี่ยเบี้ยประกันไปตามส่วนของผู้มีเงินได้ตามที่จ่ายไปจริงแต่ต้องไม่เกิน 15,000 บาท ตัวอย่างเช่น มีพี่น้อง 4 คน
ทั้ง 4 คนเฉลี่ยเงินเท่าๆกันซื้อประกันสุขภาพให้คุณพ่อหรือ คุณแม่ โดยชำระเบี้ยรวมกัน 15,000 บาท ทุกคนก็จะสามารถยกเว้นเงินได้สำหรับเบี้ยประกันสุขภาพที่ซื้อให้พ่อแม่นี้เท่ากับคนละ 3,750 บาท
สำหรับรูปแบบของการประกันสุขภาพที่กรมสรรพากรให้สิทธิประโยชน์ ก็จำกัดเฉพาะ
(1) การประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลอันเกิดจากการเจ็บป่วยและการบาดเจ็บ การชดเชยการทุพพลภาพและการสูญเสียอวัยวะ เนื่องจากการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บ
(2) การประกันภัยอุบัติเหตุเฉพาะที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล การทุพพลภาพ การสูญเสียอวัยวะ และการแตกหักของกระดูก
(3) การประกันภัยโรคร้ายแรง (Critical Illnesses)
(4) การประกันภัยการดูแลระยะยาว (Long Term Care)
สำหรับหลักฐานที่จะใช้ยื่นกรมสรรพากร ก็คือใบเสร็จรับเงินหรือหนังสือรับรองจากบริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัย โดยต้องมีข้อความอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) ชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวประชาชนของผู้เอาประกันภัย (ชื่อพ่อ หรือ แม่)
(2) ชื่อ และนามสกุลของผู้จ่ายเบี้ยประกันภัย (ชื่อลูกทุกคนที่ร่วมกันจ่ายเบี้ย)
(3) ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้รับประกันภัย
(4) จำนวนเบี้ยประกันภัย สำหรับการประกันสุขภาพ (แยกตามชื่อลูกที่จ่ายเบี้ยเลย คนไหนจ่ายเท่าไหร่)
(5) จำนวนเงินที่มีสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้
เพราะฉะนั้น อย่าลืมบอกบริษัทประกันออกใบเสร็จรับเงินให้ถูกด้วย ไม่งั้นจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอะไรเลย