HoonSmart.com>> 2 ปัจจัยหนุนให้ 6 ธนาคารกำไรโตกว่าที่นักวิเคราะห์คาด BBL-TCAP รายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม รายจ่ายลด ส่วน LHFG-TISCO ตั้งสำรองหนี้ลดฮวบ ธนาคารกรุงเทพ โกย 9,028 ล้านบาท ทหารไทยค่าใช้จ่ายพนักงานปูด CIMBT ทะยานกว่า 92% ส่วนสถาบันการเงิน KTC กำไรพุ่ง 31% คาดทั้งปีโต 10%
ธนาคารกรุงเทพ (BBL)ประกาศกำไรสุทธิ 9,028.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.26% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเติบโต 11% จากไตรมาส 4 ที่ผ่านมา ผิดจากที่นักวิเคราะห์คาดว่ากำไรจะลดลงจากไตรมาส 1/2561
สาเหตุที่มีกำไรดีขึ้นมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 6.9% ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ(NIM)เพิ่มขึ้นจาก 2.34 %เป็น 2.48% ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 28.3% ปัจจัยหลักจากกำไรสุทธิจากเงินลงทุนและรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง จากผลของการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล และการอำนวยสินเชื่อ สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานลดลง 3.1% และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานที่ 42.6%
ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2562 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,029,810 ล้านบาท ลดลง 2.6%จากสิ้นปี 2561 จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคล สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ 3.5% และอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 189.0%
บริษัท ทุนธนชาต (TCAP) มีกำไรสุทธิ 2,015 ล้านบาท โต 6% จากไตรมาส 1/2561 มีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ 7,922 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 6.25% จากปริมาณสินเชื่อและส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ส่วนรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 8.15% ขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่นๆลดลงประมาณ 10% เหลือจำนวน 5,057 ล้านบาท และหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ NPLs ลดลงจาก 20,172 ล้านบาท เหลือจำนวน 19,591 ล้านบาท
ธนาคารทหารไทย (TMB) มีกำไรสุทธิ 1,578.83 ล้านบาท ลดลง 700.91 ล้านบาทหรือ 30.74% จากไตรมาส 1/2561 มีส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยดีขึ้นเล็กน้อยอยู่ที่ 2.89% เทียบกับไตรมาส 4 ปีก่อน และค่าใช้จ่ายด้านพนักงานเพิ่มขึ้น
ส่วนบริษัท แอล เอช ไฟแนนซ์เชียล กรุ๊ป (LHFG) มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4.61% เป็น 806.7 ล้านบาท จากการตั้งสำรองหนี้สูญ หนี้สงสัยจะสูญและขาดทุนจากการด้อยค่า เพียง 100 ล้านบาท ลดลงถึง 69.7% จากจำนวน 330 ล้านบาท และรายได้เงินปันผล 51.5% ขณะที่รายได้ดอกเบี้ยสุทธิและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 15.5% เหลือ 619.1 ล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานลดลง 8.5% เป็น 1,776 ล้านบาท ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 6.6%เป็น 731.4 ล้านบาท
บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) กำไรลดลงเล็กน้อย 2.05% เหลือ 1,729.60 ล้านบาท สาเหตุหลักมาจากการลดลงของกำไรพิเศษเงินลงทุนในไตรมาส 1/2561 และค่าธรรมเนียมชะลอตัวลง ทั้งธุรกิจนายหน้าประกันภัยและตลาดทุน ส่วนค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 0.9% จากการปรับค่าชดเชยกรณีพนักงานเกษียณและเลิกจ้าง ขณะที่ตั้งสำรองหนี้สูญลดลง 83.3% ตามความจำเป็นของการตั้งสำรองและคุณภาพสินทรัพย์ของพอร์ตสินเชื่อ
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT) มีกำไรโตก้าวกระโดด 92% เป็น 325 ล้านบาท ในไตรมาส 1/2562 และพลิกจากที่ขาดทุนสุทธิ 530 ล้านบาทในไตรมาส 4 ที่ผ่านมา
ส่วนผลงานสถาบันการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดงบการเงินเฉพาะกิจการ ไตรมาส 1/2562 มีกำไรสุทธิ 1,589.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 380.5 ล้านบาท หรือ 31.47% จากระยะเดียวกันปีก่อน และเพิ่มขึ้น 29.37% จากไตรมาส 4/2561 ดีกว่าที่บล.บัวหลวงคาดจะมีกำไรสุทธิ 1,390 ล้านบาทในไตรมาส 1/2562
บริษัทฯ มีรายได้รวม 5,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากงวดเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้ดอกเบี้ยลูกหนี้บัตรเครดิตและลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเพิ่มขึ้น 9% และ 10% ตามลำดับ จากรายได้ค่าธรรมเนียม ไม่รวมค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน เพิ่ม 8% และหนี้สูญได้รับคืนเพิ่มขึ้น 13% โดยพอร์ตบริษัทยังเติบโต 7% มียอดลูกหนี้จำนวน 75,209 ล้านบาทและมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 1.18% ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 1.34%
ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารงานเพิ่มขึ้น 2% แต่เพิ่มในอัตราที่น้อยกว่ารายได้รวม เพราะสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายทางการเงินได้ดี ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย 15.43% เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 15.08% เนื่องจากค่าเฉลี่ยดอกเบี้ยรับสูงขึ้นเป็น 18.33% จาก 18.10% จากรายได้ดอกเบี้ยของสินเชื่อบุคคลที่มีสัดส่วนของพอร์ตเพิ่มขึ้นและสามารถลดต้นทุนเงินทุนได้อีกจาก 3.02% เป็น 2.91%
สำหรับปี 2562 บริษัทคาดปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรรวมเติบโต 15% พอร์ตลูกหนี้ขยายตัว 10% และรักษาระดับ NPL ให้อยู่ในระดับเดียวกับปี 2561 ที่ 1.1% คาดว่าจะมีกำไรสุทธิเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน พร้อมสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ผ่านธุรกิจนาโน-ฟิโกไฟแนนซ์ รวมทั้งธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน โดยมีความมุ่งมั่นการเติบโตขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างสรรค์สังคมด้วยความยั่งยืน