เปิดประมูลคลื่น 700MHz มิ.ย. จ่ายเงิน 1 ต.ค.63

HoonSmart.com>>กสทช.ประกาศเปิดประมูลคลื่น 700MHz จำนวน 15 MHz 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 15 MHz ในเดือนมิ.ย.นี้ ราคาเบื้องต้น 25,000 ล้านบาท/ใบ  เริ่มใช้คลื่น จ่ายเงิน 1 ต.ค.2563 ผู้ประกอบการมือถือแบ่งรับแบ่งสู้ โอดแพงเกินไป   บล.ธนชาตปรับเพิ่มประมาณการ ราคาเป้าหมายหุ้น ADVANC-TRUE-DTAC คาดโทเทิ่ล แอ็คเซ็สฯไม่แข่ง  

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญผู้ประกอบการมือถือและทีวีดิจิทัล มาร่วมประชุมและทำความเข้าใจ ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือ ว่า กสทช.จะเปิดประมูลคลื่น 700MHz จำนวน 15 MHz 3 ใบอนุญาต ๆ ละ 15 MHz ในเดือนมิ.ย.นี้ กำหนดให้จ่ายเงินและใช้จริงในวันที่ 1 ต.ค.2563  ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้นราคาประมูลต่ำสุดไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทต่อหนึ่งใบ

สำหรับผู้ที่ได้รับการผ่อนผันต้องเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz โดยให้แจ้งความจำนงภายในวันที่ 10 พ.ค.2562  แต่หากรายใดไม่ใช้สิทธิ ก็จะให้เปิดประมูลเป็นการทั่วไป และจ่ายงวดค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามเดิม 4 งวด

นายฐากรกล่าวว่า การชำระเงินค่าใบอนุญาตคลื่น 900 MHz ตามคำสั่ง คสช. จะแบ่งเป็น 10 งวด จากการนำเงินจากการประมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น ในส่วนของ บริษัททรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กว่า 7.6 หมื่นล้านบาท และบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) กว่า 7.5 หมื่นล้านบาท รวม 1.4 แสนล้านบาท นำไปหาร 10 ปี โดยปีที่ 1 คือปี 2559 ทั้งสองบริษัทชำระเงินค่าประมูล จำนวน 17,206 ล้านบาท จะต้องจ่ายเงินเพิ่มเติมให้กับทางกสทช. ส่วนในปี 2560  ไม่มีการชำระเงิน ก็ต้องจ่ายเต็มจำนวนทั้งสองงวด

ส่วนปี 2561 ชำระเพียง 12,904 ล้านบาท  ปี 2562 มีการชำระ 8,603 ล้านบาท  ในปี 2563 เมื่อมีคำสั่ง คสช.ออกมา เดิมรัฐจะมีรายได้เกิดขึ้น 130,328 ล้านบาท จะเหลือ 54,800 ล้านบาท และทยอยจ่ายเพิ่มเติมไปอีก 4 งวด โดยจะสิ้นสุดการชำระเงินในปี 2569  รัฐจะมีรายได้ทั้งสิ้น 203,317 ล้านบาท

“การประมูลคลื่น 700 MHz  เบื้องต้นราคาประมูลไม่น่าจะต่ำกว่า 25,000 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาตขนาด 15 MHz  จะทำให้รัฐมีรายได้รวมอย่างน้อย 75,000 ล้านบาท จากเดิมในปี 2563 รัฐจะมีรายได้ 54,800 ล้านบาท จะกลายเป็น 62,300 ล้านบาท และในปี 2564 รัฐจะมีรายได้เกิดขึ้น 27,000ล้านบาท จนไปถึงปี 2572  รัฐจะมีรายได้ทั้งสิ้น 278,317 ล้านบาท”นายฐากร กล่าว

นายวีระวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร ADVANC กล่าวว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz ระยะเวลาค่อนข้างสั้น  หลักเกณฑ์การประมูลต่างๆ ยังไม่เรียบร้อย  ราคาประมูลก็ยังสูง โดยเห็นว่าไม่ควรนำเอา 900 MHz มาเป็นพื้นฐาน เนื่องจากการให้บริการเทคโนโลยี 5G ต้องเตรียมการอย่างน้อย 2 ปี

นายราจีฟ บาวา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กรและพัฒนาธุรกิจ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า DTAC รับทราบการขยายระยะเวลาชำระเงินค่าใบอนุญาต DTAC จะหารือกับทาง กสทช.เพื่อความชัดเจนเพิ่มขึ้นจากคำสั่งฯ  ก่อนที่จะพิจารณาตัดสินใจดำเนินการต่อไป

นายอติรุฒน์ โตทวีแสนสุข รองประธานคณะกรรมการบริหาร TRUE กล่าวว่า  การประมูล ทั้ง 3G และ 4G  ผู้ให้บริการโทรคมนาคมแบกรับภาระมากขึ้น โดยเฉพาะ 900 MHz ถือได้ว่า ราคาคลื่นความถี่สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อเทียบกับรายได้ต่อหัวของประชากร ทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมยังไม่ถึงจุดคุ้มทุน และเติบโตช้าลง หรือไม่มีการเติบโตเลย ซึ่งตั้งแต่มีการประมูลเป็นต้นมารายได้หายไปกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นผลกระทบมาก

บล.ธนชาต คาดว่า ADVANC และ TRUE จะเข้าร่วมประมูลคลื่น 700 MHz ส่วน DTAC ไม่รับข้อเสนอ ที่กสทช.ให้ความเห็นว่าราคาจะอยู่ที่ 7,000 ล้านบาท สูงกว่าที่เราคาดไว้ก่อนหน้าที่ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ DTAC ไม่ได้รับประโยชน์จากข้อเสนอนี้

นอกจากนี้ บล.ธนชาต ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของ ADVANC ,DTAC และ TRUE ขึ้นจากเดิม 5%, 4% และ 2% ตามลำดับ  แต่ยังคงคำแนะนำ “ถือ” สำหรับ ADVANC และ “ขาย” สำหรับ DTAC และ TRUE เพราะมี EV/EBITDA ที่แพง, กำไรเติบโตต่ำเพียง 2-3% ต่อปีในช่วง 2562-2564 และน่าจะให้ผลตอบแทนปันผลน้อยกว่า 4%

ภายใต้เงื่อนไขการชำระค่าไลเซนส์ 900 MHz ของ ADVANC และ TRUE งวดที่จะครบกำหนดในปี 2563 รายละ 6 หมื่นล้านบาท จะถูกแบ่งเป็นปี 2563 ชำระ 22,000 หมื่นล้านบาท และอีก 5 ปีถัดไป ชำระงวดละ 7,400-7,500 ล้านบาท ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิของ ADVANC และ TRUE เพิ่มขึ้นรายละ 7,600 ล้านบาท หาก DTAC รับข้อเสนอ จะต้องชำระ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2563 จะถูกปรับเป็น 7,400 ล้านบาทในปี 2563 และงวดละ 3,700 ล้านบาทในปี 2564-2570 ทำให้มูลค่าปัจจุบันสุทธิเพิ่มขึ้น 4,300 ล้านบาท

” เราคาดว่าราคาหุ้นทั้ง 3 บริษัท เพิ่มขึ้น 2-8% ในเดือนเม.ย. สะท้อนในข่าวดีไปหมดแล้ว ให้น้ำหนักต่ำกว่าตลาด “บล.ธนชาตระบุ

กรณี ADVANC จะรับข้อเสนอการขยายเวลาชำระฯ จะเพิ่มมูลค่าให้ 2% เมื่อรวมกับการปรับเพิ่มประมาณการ 3%จากรายได้ที่ฟื้นตัวดีกว่าที่คาด จึงปรับราคาเป้าหมายขึ้น 6% เป็น 185 บาทจากเดิม 175 บาท  คาดว่าค่าใช้จ่ายการลงทุนด้านโครงข่ายจะยังเพิ่มขึ้น จาก 22,000 ล้านบาทในปี 2561 เป็น 23,000 ล้านบาทในปี 2562 จำนวน 24,000 ล้านบาทในปี 2563 และ 25,000 ล้านบาทในปี 2564 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ EBITDA ที่ 7,600-8,100 ล้านบาท จะกดดันกำไร เนื่องจากค่าใช้จ่ายและค่าเสื่อมราคาที่เพิ่มขึ้น คาดว่าผลกำไรเติบโตเพียง 3-4% ในปี 2562-2563

ส่วน DTAC ปรับราคาเป้าหมายขึ้น 4% เป็น 47 บาท จากเดิม 45 บาท หลังปรับประมาณการขึ้น 10-14%ในปี 2563-2564 มุ่งเน้นการพัฒนาและขยายเครือข่าย 2300 MHz และ 900 MHz ก่อน และจะเริ่มลงทุนเครือข่าย 5G ในปี 2565 แนะนำขาย  การให้บริการโทรศัพท์มือถือเพียงอย่างเดียว ไม่มีบริการเสริมอื่น เช่น อินเทอร์เน็ตบ้าน แนวโน้มรายได้อ่อนแอ

TRUE น่าจะได้รับประโยชน์สูงสุด  คาดว่ารับข้อเสนอนี้ ให้ราคาเป้าหมายเพิ่มขึ้น 2% เป็น 4.50 บาท จากเดิม 4.40 บาท ความเสี่ยงทางการเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ TRUE ขาดทุนมานานหลายปี คาดว่าปีนี้ยังขาดทุน  ราคาหุ้นแพงจึงแนะนำขาย ปรับลดประมาณการ EBITDA ลง 3-7% ในปี 2562-2564 หลังการเติบโตรายได้ต่ำกว่าคาดในปี 2561 สัดส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.1 เท่า และ EBITDA อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท เทียบกับค่าใช้จ่ายลงทุนที่เราคาดไว้ 3.9 หมื่นล้านบาท การขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต 6 หมื่นล้านบาท จากการจ่ายเต็มในปี 2563 ทำให้ความเสี่ยงในการเพิ่มทุนหายไป ในเงื่อนไขใหม่ จะต้องชำระ 2.2 หมื่นล้านบาทในปี 2563 และงวดละ 7-8,000 บาทในอีก 5 ปีถัดไป

“เราปรับลดอัตราการเติบโตของรายได้ลงเหลือ 4-6% ต่อปี จากก่อนหน้านี้คาดไว้ 4-10% ในปี 2563-2565 ซึ่งชะลอลงจากเติบโต 9%ในปี 2561
คาดว่า TRUE น่าจะเริ่มมีกำไรในปี 2563 ช้ากว่าที่บริษัทคาดไว้ในปี 2562 กระแสเงินสดยังติดลบ ขณะที่การลงทุนยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยกังวลหลัก”บล.ธนชาตระบุ