คอลัมน์การเมืองเรื่องใกล้ตัว : รัฐบาลยากจะตั้ง

โดย…อุเทน ชาติภิญโญ
อดีตนักการเมือง,ประธานผันน้ำลงทะเลฝั่งตะวันออก

จากวันนั้น ที่รอคอย ช่วงเวลาแห่งความว้าวุ่น เมื่อมาถึงยิ่งวุ่นวาย 24 มีนาคม 2562 วันเลือกตั้ง ที่ผ่านพ้นไปสัปดาห์เศษ แต่สถานการณ์ภายในประเทศกลับไม่เป็นอย่างที่ทุกคนคาดหวังเหมือนก่อนหน้านี้ ตรงกันข้ามกลับยิ่งอึมครึมชวนอึดอัดจากสภาวะแบ่งขั้วเลือกข้างเพื่อชิงกันจัดตั้งรัฐบาล

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะล่อแหลม สุ่มเสี่ยงต่อการเผชิญหน้าคือ ผลการเลือกตั้งที่ไม่ขาดระหว่างสองขั้วการเมืองใหญ่ในปัจจุบัน นั่นคือ พรรคเพื่อไทย และพรรคพลังประชารัฐ

พรรคเพื่อไทยยกธรรมเนียมปฏิบัติในอดีต ที่ให้พรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส.มาเป็นอันดับ 1 จัดตั้งรัฐบาลก่อน ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ ใช้คะแนนรวมของประชาชนกว่า 8.3 ล้านเสียง เป็นเหตุผลในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาล โดยอ้างอิงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่ให้ความสำคัญกับทุกคะแนนเสียง หรือที่เรียกว่า จัดสรรปันส่วนผสม

พรรคเพื่อไทยและพรรคพลังประชารัฐต่างมีเหตุผลในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่ข้อเท็จจริงคือ ผู้ที่จะจัดตั้งรัฐบาลได้ ย่อมต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร หรือ 251 เสียง หากแต่จำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอต่อการเลือกนายกรัฐมนตรี

เนื่องจากมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้บัญญัติเอาไว้ว่า ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการตามมาตรา 159 เว้นแต่การพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 159 วรรคหนึ่ง ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 159 วรรคสาม ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา

กล่าวคือ บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้จะต้องได้รับความเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมดที่มีอยู่ 750 คน อันประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน และ ส.ว.250 คน ดังนั้น จะต้องใช้เสียง ส.ส. และ ส.ว. 376 คนถึงจะเป็นนายกรัฐมนตรีได้

จากผลการนับคะแนนของคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทำให้พอมองเห็นจำนวนเสียงของแต่ละพรรคการเมือง และจำแนกเป็นแต่ละฝ่ายจะพบว่า อยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน ต่อให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรวบรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งได้ แต่จะอยู่ในจำนวนที่ไม่ได้ทำให้มีเสถียรภาพ หรือที่เรียกกันว่า ปริ่มน้ำ

การให้ ส.ว. 250 คน เข้าร่วมลงมติเห็นชอบรายชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่สามารถกำหนดได้ว่านายกรัฐมนตรีจะมาฝ่ายใด ไม่ใช่ทางออกของความขัดแย้งที่แท้จริง เพราะผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีจากพรรคพลังประชารัฐ เป็นผู้แต่งตั้ง ส.ว.ชุดนี้ขึ้นมากับมือ ย่อมทำให้เกิดการครหาและไม่เป็นที่ยอมรับ

อีกจุดที่สำคัญ แม้จะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ด้วยคะแนนเสียงจาก ส.ว.ที่เข้ามาสนับสนุน แต่จะเกิดปัญหากับฝ่ายนิติบัญญัติ เพราะจำนวนเสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอาจมีน้อยกว่าเสียงของ ส.ส.ฝ่ายค้าน ส่งผลต่อการพิจารณากฎหมายสำคัญๆ อย่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี ที่หากไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะทำให้การขับเคลื่อนประเทศชะงักงันทันที

จำนวน ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาลควรจะมีมากกว่า285 เสียง เพื่อเสถียรภาพในการประชุมเพื่อพิจารณากฎหมายที่มีความสำคัญและมีประโยชน์ต่อประเทศ

นอกจากนี้ ในส่วนของนายกรัฐมนตรี 376 เสียง ที่เห็นชอบรายชื่อนายกรัฐมนตรี ควรจะเป็นเสียงจาก ส.ส.ทั้งหมด เพื่อให้เกิดการยอมรับจากสังคม แต่ปัญหา ณ ขณะนี้คือ มันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ในเมื่อจำนวนเสียงของแต่ละฝ่ายอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน

สัปดาห์ที่ผ่านมามีการพูดถึง “งูเห่า” ซึ่งหมายถึงการไปดึง ส.ส.ของอีกฝ่ายให้มาสนับสนุนฝ่ายตัวเอง เพื่อให้มีจำนวนเสียงสนับสนุนที่มากพอ แต่นั่นเป็นเพียงการเอาชนะคะคานกันเข้าสู่อำนาจ อันจะสร้างปัญหาแทรกซ้อนมากมายในอนาคตได้

จุดอ่อนของรัฐบาลผสม คือ การเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับพรรคขนาดเล็กและพรรคขนาดกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่คะแนนของแต่ละฝ่ายสูสีกัน ยิ่งทำให้พรรคขนาดเล็กที่มีเพียงเสียงเดียวถูกยกระดับความสำคัญอย่างมากในทางการเมือง เพราะมีผลต่อการเพิ่มเสถียรภาพให้กับฝั่งนั้นๆ

แต่ในภายภาคหน้าจะเกิดปัญหาได้ เพราะการเป็นรัฐบาลผสมที่เต็มไปด้วยพรรคการเมืองจำนวนมากเกิน 10 พรรค จะทำให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ที่มากขึ้น การตัดสินใจแต่ละเรื่องยากมากกว่าที่ทุกฝ่ายจะพอใจ

ในสถานการณ์ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการสืบทอดอำนาจ ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งต้องการสกัดการสืบทอดอำนาจ แต่ปริมาณเสียงไม่เพียงพอที่จะทำให้มีเสถียรภาพได้ กอปรกับกติกาที่ยังมีปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับ น่าหวั่นใจเหลือเกินว่า ประเทศกำลังจะวนสู่ลูปเดิมเมื่อ 4-5 ปีก่อน ที่ประชาชนในประเทศขัดแย้งและแตกแยกอย่างรุนแรง

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาคือ สัญญาณที่บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเรากำลังจะกลับไปสู่จุดนั้น เหมือนกับที่ผมเคยพูดเอาไว้ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งว่า กติกาฉบับนี้ไม่สามารถเป็นทางออกของประเทศได้ แต่ยิ่งจะสร้างความขัดแย้งที่มากขึ้น

เอาแค่รัฐบาลยังตั้งกันไม่ได้ นับประสาอะไรกับการปฏิรูปบ้านเมือง หรือพัฒนาประเทศ ก็ลองคิดดูและเตรียมตัวไว้รับสถานการณ์.