สรท.ลดเป้าส่งออก-กสิกรฯ หั่น GDP ปี 62 คาดโต 3.7%

HoonSmart.com>> “สภาผู้ส่งออก” ปรับลดคาดการณ์ส่งออกปี 62 โตต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ปี 62 เติบโต 3.7% จาก 4% สะท้อนส่งออกอ่อนแรง มองรัฐบาลใหม่เผชิญโจทย์ใหญ่เศรษฐกิจโลก หากออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามคาดหนุนการบริโภคครัวเรือน

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก ได้ปรับลดคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 62 จะเติบโตต่ำกว่า 5% (บนสมมติฐานค่าเงินบาท 33.00 บาท/เหรียญสหรัฐ (+/- 50 สต.) ) ปัจจัยเสี่ยงจากบรรยากาศการค้าโลก ได้แก่ การเจรจาอังกฤษแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)ยังไม่ชัดเจน, การส่งออกของไทยเจอกำแพงภาษีจากสหรัฐฯ ตลาดญี่ปุ่นและยุโรปยังติดลบ ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ จากต่างประเทศ

พร้อมกันนี้สรท.เสนอแนะต่อรัฐบาลใหม่ โดยขอให้เร่งจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพทางการเมืองและสนับสนุนภาคการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งขอให้พิจารณาปรับขึ้นค่าแรงอย่างค่อยเป็นค่อยไป พิจารณาถึงขีดความสามารถของอุตสาหกรรม และกลุ่มแรงงานที่มีทักษะที่แท้จริง เนื่องจากมองว่านโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ประกอบการทั้งภาคการผลิต และภาคบริการ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้จัดเสวนาเรื่อง “จับอุณหภูมิเศรษฐกิจไทยหลังเลือกตั้ง” วันนี้ (2 เม.ย.2562) โดยจากผลสำรวจความคิดเห็นของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้ง พบว่าการเลือกตั้งส่งผลดีต่อความเชื่อมั่น อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นดังกล่าว ยังแปรผันตามสถานการณ์การจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2562 ลงมาที่ 3.7% จากเดิมที่ 4.0% โดยมีกรอบคาดการณ์ใหม่ที่ 3.2-3.9% การปรับลดประมาณการดังกล่าว สะท้อนกิจกรรมการส่งออกที่มีแนวโน้มอ่อนแรงลง ตามผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย แม้ว่าประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะมีพัฒนาการที่ดีกว่าที่เคยคาดไว้เดิมก็ตาม

นอกจากนี้ได้มีการปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการส่งออกในปี 62 จากเดิม 4.5% เหลือ 3.2% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของการนำเข้าจากเดิม 5.3% เหลือ 4.3%

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยในประเทศ คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.75% ตลอดปีนี้ ซึ่งเมื่อผนวกกับสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีอยู่มาก และจังหวะการปล่อยสินเชื่อที่ยังค่อยเป็นค่อยไป คงทำให้การแข่งขันด้านอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยยังไม่รุนแรง

ส่วนทิศทางค่าเงินบาท คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบประมาณ 31.20-32.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยติดตามยังเป็นปัจจัยในประเทศ ทั้งสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจไทย

“ไม่ว่ารูปแบบรัฐบาลผสมจะมีองค์ประกอบเป็นแบบใด ต่างก็ต้องเผชิญโจทย์การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่กระทบภาคการส่งออกทั้งสิ้น ทำให้รัฐบาลใหม่คงต้องเร่งผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนภายใต้กรอบงบประมาณปี 2562 รวมถึงการผ่านร่างงบประมาณปี 2563 ซึ่งถ้าหากการจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการแล้วเสร็จได้ภายในเดือนมิ.ย.2562 และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาตามคาด ก็จะช่วยหนุนการบริโภคครัวเรือนได้ราว 0.2-0.4% ของจีดีพี และทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ดีกว่าช่วงครึ่งปีแรก”น.ส.ณัฐพร กล่าว