HoonSmart.com>>ทริสเรทติ้งเปรียบมวย 2 อสังหาฯ ชั้นนำของเมืองไทย พื้นฐานสูสีกันมาก LH มีรายได้สูงกว่า 45,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า อัตรากำไรสูงกว่า 20% รับเงินปันผล 2,000 ล้านบาทต่อปีจากบริษัทร่วม ส่วน PSH มีสินค้ารอส่งมอบ 100,470 ล้านบาท มีแบ็กล็อกอีก 33,000 ล้านบาท ช่วยประกันรายได้ส่วนใหญ่ในปี 2562-2564 อัตรากำไรไม่ต่ำกว่า 15%
บริษัททริสเรทติ้ง คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (LH) ที่ระดับ ‘A+’พร้อมจัดอันดับเครดิตชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 6,000 ล้านบาทที่ระดับ ‘A+’ เช่นกัน โดยบริษัทจะนำเงินไปใช้ชำระคืนหนี้หุ้นกู้ที่จะถึงกำหนดไถ่ถอนในเดือนเม.ย.2562
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย การมีแบรนด์ที่แข็งแกร่งในสินค้าที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย และภาระหนี้ที่อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากนี้ยังมีความยืดหยุ่นทางการเงินจากเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่สร้างรายได้ประจำและการมีหลักทรัพย์สภาพคล่องในระดับสูง รวมถึงความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยด้วย
LH เป็นหนึ่งในสามอันดับแรกของกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับแนวหน้าของไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เมื่อพิจารณาจากฐานรายได้ โดยมีรายได้ 35,265 ล้านบาทในปี 2560 และ 34,686 ล้านบาทในปี 2561 ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 73 โครงการ มูลค่าเหลือขายรวม 63,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรรคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 70% ส่วนที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ (แบ็กล็อก)รวมทั้งสิ้นประมาณ 9,800 ล้านบาท คาดว่าจะส่งมอบให้แก่ลูกค้าได้ในปี 2562-2564
บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงาน (ก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย)ต่อรายได้ เท่ากับ 23-27% ในช่วงปี 2559-2561 ทั้งนี้ ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทอาจลดลงในอนาคตจากต้นทุนค่าที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้นและการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในตลาดบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม ทริสฯคาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานที่สูงกว่า 20% เอาไว้ได้ในช่วงปี 2562-2564
บริษัทมีสัดส่วนหนี้อยู่ในระดับปานกลาง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ระดับ 47-48% ในช่วงปี 2559-2561 และมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย(EBITDA)ที่ระดับ 3-4 เท่าในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 1.5 เท่าตามข้อกำหนดสิทธิหุ้นกู้ โดย ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 0.86 เท่า
ทริสเรทติ้งเห็นว่าบริษัทมีสภาพคล่องอยู่ในระดับที่เพียงพอ โดยบริษัทมีอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอยู่ที่ประมาณ 20% และมีอัตราส่วน EBITDA 7-9 เท่าในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ บริษัทยังมีเงินลงทุนจำนวนมากในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งช่วยสร้างความยืดหยุ่นทางการเงินให้แก่บริษัทอีกด้วย ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของเงินที่บริษัทลงทุนในบริษัทร่วมที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 74,000 ล้านบาทและเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากเงินลงทุนดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 2,000 ล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสฯ ว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง รวมทั้งรักษาสถานะทางการเงินให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และคงความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ได้ ทริสคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานจะอยู่ในระดับสูงกว่า 32,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 นอกจากนี้ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% หรืออัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ต่ำกว่า 5 เท่า
ปัจจุบัน LH มีหุ้นกู้รอไถ่ถอนในปี 2562-2564 จำนวน 10 ชุด เป็นเงินทั้งสิ้น 39,250 ล้านบาท ไม่นับรวมหุ้นกู้ที่จะออกใหม่ จำนวน 6,000 ล้านบาท อายุ 5 ปี ในครั้งนี้
ส่วนบริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง (PSH) ทริสฯคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้มีการค้ำประกันชุดปัจจุบันและชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 3,500 ล้านบาทที่ระดับ ‘A’ โดยได้รับการค้ำประกันอย่างไม่มีเงื่อนไขและไม่อาจเพิกถอนได้ โดยบริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ ‘A’ ด้วยแนวโน้ม ‘คงที่ ‘ หุ้นกู้มีการค้ำประกันดังกล่าวมีสิทธิเท่าเทียมกันกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท
ทั้งนี้ อันดับเครดิตของหุ้นกู้ชุดใหม่ใช้แทนอันดับเครดิตหุ้นกู้เดิม เนื่องจากบริษัทจะเพิ่มวงเงินรวมของหุ้นกู้เป็น 3,500 ล้านบาท จากเดิม 2,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำเงินไปทดแทนหุ้นกู้ของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ที่จะครบกำหนดชำระในเดือนมี.ค. 2562 และใช้ในการดำเนินงาน
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความน่าเชื่อถือของบริษัทในฐานะบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่ม โดยมีบริษัทย่อยที่สำคัญคือบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 98.23% นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงรายได้จากเงินปันผลที่บริษัทได้รับจากบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทด้วย หลังจากปรับโครงสร้างกิจการในปี 2559 ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักและบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตทถือเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของกลุ่ม ด้วยเหตุนี้ อันดับเครดิตองค์กรของบริษัทจึงเท่ากับอันดับเครดิตองค์กรของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท
อันดับเครดิตของบริษัทสะท้อนถึงความแข็งแกร่งของบริษัทพฤกษา เรียลเอสเตท ในธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โดยที่ความได้เปรียบในการแข่งขันมาจากความหลากหลายของสินค้า ตลอดจนความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน และยอดขายรอการส่งมอบจำนวนมากที่ช่วยสนับสนุนรายได้ในอนาคตได้ส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของกลุ่มที่อยู่ในระดับปานกลาง ความผันผวนและการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย ตลอดจนผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
บริษัทฯมีรายได้จากการดำเนินงาน 44,000-47,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา(2559-2561)สูงที่สุดในกลุ่มผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำในประเทศไทย รายได้จากทาวน์เฮ้าส์ซึ่งเป็นสินค้าหลักมีสัดส่วนประมาณ 50% ส่วนรายได้จากคอนโดมิเนียมและบ้านเดี่ยวคิดเป็น 30% และ 20% ตามลำดับ ในสมมติฐานพื้นฐานของทริสฯคาดว่ารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทในช่วง 3 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 45,000 ล้านบาทต่อปี โดยทาวน์เฮ้าส์จะยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักต่อไป
ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีโครงการที่อยู่อาศัยระหว่างการพัฒนาประมาณ 200 โครงการ จำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายทั้งหมด (รวมทั้งที่ก่อสร้างแล้วและยังไม่ได้ก่อสร้าง) มีมูลค่า 100,470 ล้านบาท โดยโครงการอสังหาริมทรัพย์แนวราบ (รวมโครงการทาวน์เฮ้าส์และบ้านเดี่ยว) คิดเป็น 76% ของมูลค่าเหลือขาย ที่เหลือเป็นโครงการคอนโดมิเนียม และมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่าประมาณ 33,000 ล้านบาท ซึ่งจะช่วยประกันรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่งได้ในอนาคตในช่วงปี 2562 จนถึงปี 2564
อัตรากำไรจากการดำเนินงาน(ก่อนค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย)ต่อรายได้ คาดว่าจะอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 15% ต่อปี แม้บริษัทจะขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็วและลงทุนในธุรกิจสถานพยาบาล แต่ก็คาดว่าบริษัทจะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50% เอาไว้ได้ ณ เดือนธันวาคม 2561 อัตราส่วนอยู่ที่ 41%
ตามงบการเงินรวม สภาพคล่องทางการเงินของบริษัทยังคงมีเพียงพอ โดย ณ สิ้นปี 2561 บริษัทมีเงินสดจำนวน 1,445 ล้านบาทและมีวงเงินกู้จากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 8,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงาน ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาทด้วย บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 14,754 ล้านบาท ประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 6,400 ล้านบาทและเงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารจำนวน 8,354 ล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต ‘คงที่’ สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานที่ดีเอาไว้ได้ในช่วง 3 ปีข้างหน้า และบริษัทจะรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานให้อยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 15% รวมทั้งรักษาอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนทั้งของบริษัทและของบริษัทลูกให้อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50%
บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง มีหุ้นกู้จำนวน 2 ชุด มูลค่ารวม 5,500 ล้านบาท รอไถ่ถอนในปี 2564 และ 2566