SUPER ติดปีก ปรับแผนซื้อธุรกิจ รับเงินทันที

HoonSmart.com>>ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยีฯมีกลไกพร้อมโตก้าวกระโดด ขายกองทุนพ.ค.มีเงินเหลือลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท ประกาศ 4 ปี เพิ่มเมกะวัตต์เท่าตัวทำได้ตามเป้า รายได้โต 15% ต่อเนื่อง 3 ปี ปรับนโยบายซื้อกิจการ เฟ้นธุรกิจที่สร้างรายได้ทันที ไม่เสียเวลาก่อสร้างเหมือนแต่ก่อน

นายจอมทรัพย์ โลจายะ ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER)ให้ข้อมูลแก่นักลงทุนและนักวิเคราะห์ว่า การลงทุนและการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมาย คือ 4 ปี เมกะวัตต์พุ่ง 100% หลังจากกลไกด้านเงินทุนมีความพร้อม คาดเสนอขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานโรงไฟฟ้า ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี (SUPEREIF) ขนาด 8,300-8,500 ล้านบาทในเดือนพ.ค.บริษัทเข้าไปซื้อหน่วยลงทุนประมาณ 1,060 ล้านบาท นำไปชำระหนี้ประมาณ 4,000 ล้านบาท เหลือเงินกว่า 3,000 ล้านบาทรองรับการขยายงานโรงไฟฟ้าพลังงานลม ประเทศเวียดนามประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยขายทรัพย์สินจำนวน 117 เมกะวัตต์เข้ากองทุนสร้างกำไรพิเศษให้บริษัทด้วย

นอกจากนี้ ในปีนี้บริษัทยังปรับนโยบายในการซื้อกิจการที่สร้างรายได้ทันที จากที่ผ่านมาซื้อธุรกิจที่มีแต่ใบอนุญาต แต่ต้องเสียเวลาในการก่อสร้าง แม่ได้มาร์จิ้นสูงกว่าแต่รายได้จะทยอยเข้ามา บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม และไต้หวัน จำนวน 2-3 ราย ขนาด 30-50 เมกะวัตต์/โรง น่าจะมีความชัดเจนในไตรมาส 3 หรือ 4 คาดหวังอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ที่ 11-13% และมองหาโอกาสขยายโรงไฟฟ้าขยะ หลังจากโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากขยะชุมชนที่ จ. พิจิตร กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ จะทยอย COD ในช่วงไตรมาส 3 และยังมีอีก 3 โครงการที่จะทยอยก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่ม COD ในปี 2563-2564 การลงทุนในโรงไฟฟ้าขยะเนื่องจากมี IRR สูงถึง 25% ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 13-15% และพลังงานลม 15-18%

สำหรับแผนงานในปีนี้ บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโต 13-15% จากปีก่อนที่มีรายได้ 5,874.30 ล้านบาท และคาดว่ากำไรก็น่าจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,045.43 เนื่องจากโครงการมีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์เพิ่มเติม (COD) ประมาณ 266 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในเวียดนาม จำนวน 5 โรง กำลังการผลิตรวม 236.72 เมกะวัตต์ คาด COD ได้วันที่ 30 มิ.ย.นี้, โรงไฟฟ้าจากขยะที่ จ.พิจิตร กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ คาดจะ COD ได้ในช่วงปลายไตรมาส 3 หรือต้นไตรมาส 4 และยังมีการเซ็นสัญญาขายไฟฟ้าให้กับบริษัทเอกชนหรือ Private PPA รวม 33.24 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มทยอย COD ได้ในไตรมาส 4 ประมาณ 16 เมกะวัตต์ ถึงสิ้นปีนี้จะมีทั้งสิ้น 1,039.32 เมกะวัตต์ จากปีก่อนอยู่ที่ 777.6 เมกะวัตต์

บริษัทยังอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการเพิ่มเติม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังงานลมในเวียดนาม จำนวน 5 แห่ง กำลังการผลิตรวม 790 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตซื้อขายไฟฟ้า (PPA) แล้ว 172 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่ขายให้บริษัทเอกชน รวมถึงโครงการ SPP Hybrid กำลังการผลิต 16 เมกะวัตต์

” รายได้เราจะโต 15%ได้ต่อเนื่อง 3 ปีนี้ ตัวเลขดีขึ้นเรื่อยๆ ปีนี้ COD 266 เมกะวัตต์ โตเกือบ 700% ไม่เหมือนในปี 2560 เพิ่ม 10 เมกะวัตต์ ปี 2561 เพิ่ม 37 เมกะวัตต์ เพราะปี 2559 ใช้เงินลงทุนเยอะ แต่เงินจากการเพิ่มทุนขายพีพีและวอร์แรนต์ไม่เข้ามา ตอนนี้กลไกของบริษัทจะครบถ้วน ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้ออกหุ้นกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ เพราะได้รับเงื่อนไขที่ดีจากธนาคารกรุงเทพ ยืดการชำระหนี้จาก 10 ปี เป็น 13 ปี ลดดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ทำให้บริษัทประหยัดดอกเบี้ย 1.75% เป็นระยะ 13 ปี ข้างหน้า เมื่อเราขายกองทุน นำเงินส่วนหนึ่งไปคืนหนี้ลด D/E ลงจาก 2 เท่า ส่วนโครงการที่จะซื้อเข้ามา ทั้งโซลาร์ ขยะ ต้องมีอายุ 20 ปี IRR ต้องสูงตามเป้าที่วางไว้ ทำให้กระแสเงินสดมั่นคง”นายจอมทรัพย์กล่าว

ส่วนผลการดำเนินงานในไตรมาส 1 คาดว่าจะยังเติบโตต่อเนื่อง เพราะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์ฟาร์ม) สหกรณ์การเกษตร เฟส 2 กำลังการผลิต 28 เมกะวัตต์ จะรับรู้รายได้เต็มที่ รวมทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะ จ.สระแก้ว กำลังการผลิต 9.9 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 777.6 เมกะวัตต์ บริษัท ยังมีโครงการในเวียดนามจะช่วยสนับสนุนในช่วงครึ่งปีหลัง สร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและมั่นคง รวมทั้งสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับผู้ถือหุ้น