ส่งออก ก.พ.โต 5.9% จากปัจจัยชั่วคราว

HoonSmart.com>>ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยส่งออกเดือนก.พ.ขยายตัว จากการส่งอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบที่นำเข้ามาใช้ในการซ้อมรบเมื่อเดือนม.ค.กลับไปสหรัฐฯ หากไม่รวมรายการพิเศษ ติดลบ 3.4% สินค้าศักยภาพยังหดตัวต่อเนื่อง เหมือนประเทศในภูมิภาคนี้ คาดไตรมาส 1 หดตัว 4-2% คาดการเจรจาการค้ามีข้อสรุปเร็วๆนี้ ยืนเป้าหมายส่งออกทั้งปีโต 4.5%

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในเดือนก.พ. 2562 พลิกกลับมาขยายตัว 5.9 % เมื่อเปรียบเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นไปตามคาด ซึ่งเป็นผลของปัจจัยชั่วคราวที่มีการส่งออกอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบที่นำเข้ามาใช้ในการซ้อมรบเมื่อเดือนม.ค. 2562 กลับไปยังสหรัฐฯ เมื่อหักลบมูลค่าการส่งออกอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบแล้ว การส่งออกสินค้าของไทยหดตัว 3.4% ในเดือนก.พ. สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าของประเทศในภูมิภาคที่หดตัวสูงในเดือนเดียวกัน เช่น จีน หดตัว 20.7% ญี่ปุ่น หดตัว 1.2% และไต้หวัน หดตัว 8.8%

ปัจจัยหลักที่ทำให้การส่งออกสินค้าของไทย (ไม่รวมอาวุธ กระสุน และส่วนประกอบ) หดตัวในเดือนก.พ. ยังมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนของประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่การเจรจาถูกเลื่อนออกไปเป็นช่วงเดือนเม.ย. วัฎจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงฐานการส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับปิโตรเลียมในปีก่อนที่สูงจากระดับราคาน้ำมันดิบที่สูงและการเร่งนำเข้าของจีน

ส่วนดุลการค้ากลับมาเกินดุล 4,034.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก.พ. หลังขาดดุล 4,032.4 ล้านดอลลาร์ฯ ในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากรายการพิเศษที่นำเข้ามาใช้ในการซ้อมรบเมื่อเดือนก่อนถูกบันทึกเป็นมูลค่าการส่งออกสินค้าเมื่อส่งกลับสหรัฐฯ ในเดือนก.พ.

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ปัจจัยฐานที่สูงจากการเร่งนำเข้าของจีนและสหรัฐฯ ในปีก่อน วัฎจักรขาลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน จะเป็นปัจจัยกดดันการส่งออกสินค้าไทยตลอดช่วงไตรมาสที่ 1 ให้หดตัวในช่วงกรอบประมาณการที่ ติดลบ 4.0% ถึงติดลบ 2.0 %ในขณะที่ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนแม้จะยังมีความไม่แน่นอนอยู่ แต่ก็มีสัญญาณที่เป็นบวกมากขึ้น คาดว่าจะหาบทสรุปร่วมกันได้ในระยะเวลาอันใกล้ ส่งผลให้สหรัฐฯ ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าบางส่วนจากจีน ลดแรงกดดันบรรยากาศการค้าโลกในช่วงที่เหลือของปี 2562 แต่ยังต้องติดตามรายละเอียดการเจรจาทางการค้า อีกครั้งหนึ่งเพื่อประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกปี 2562 ไว้ที่ 4.5% (กรอบประมาณการที่ 2.0 – 6.0%) ซึ่งยังต้องติดตามผลการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่จะมีขึ้นในช่วงเดือนเม.ย. และทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในระยะข้างหน้า