HoonSmart.com>>กกพ.ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากประชาชน เปิดรับลงทะเบียนพ.ค.นี้ ทยอยประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาตั้งแต่ มิ.ย. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ภายในปี 2562 ตั้งเป้ารับซื้อจำนวน 100 เมกะวัตต์เป็นเวลา 10 ปี ในราคาไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดตัวโครงการโซลาร์ภาคประชาชนของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ว่า ได้กำหนดหลักการโครงการนำร่องการรับจดทะเบียนเจ้าของบ้านและอาคาร ที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ต้องการติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อใช้เอง สามารถเชื่อมกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้เข้าสู่ระบบได้ ขนาดการติดตั้งประมาณ 100 เมกะวัตต์(MW)ต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี คาดว่าจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่ พ.ค.นี้ เป็นต้นไป
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลจะได้ออกมาตรการสนับสนุนให้ผู้ผลิตแผงโซล่าเซลล์และผู้ประกอบการติดตั้งระบบในประเทศ และสถาบันอาชีวะศึกษา ให้มีส่วนร่วมในธุรกิจการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบ ที่ในแต่ละปีคาดว่าจะมีการติดตั้งประมาณ 10,000-20,000 ระบบ เป็นมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 40,000 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาโครงการ 10 ปี
นายศิริ กล่าวว่า โครงการโซลาร์ภาคประชาชน เป็นไปตามแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าฉบับใหม่ PDP2018 ในการเสริมสร้างระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศที่มั่นคง ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในราคาที่ส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศสามารถแข่งขันได้ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ด้วยการใช้วิวัฒนาการด้านเทคโนโลยีตามแนวพัฒนาประเทศสู่ Thailand 4.0 ให้เป็นระบบไฟฟ้าทันสมัยให้สามารถรองรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและมาตรการอนุรักษ์พลังงานได้สูงถึง 35% ในปี 2580 โซลาร์ถือเป็นส่วนสำคัญ สัดส่วนมากกว่า 50% กำลังผลิตติดตั้งรวม 12,725 MW
นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ภายใต้นโยบายของ กกพ. ได้แก่ การเปิดเผยข้อมูล การสร้างความเข้าใจ และการสร้างความโปร่งใส ในกระบวนการพิจารณาทุกขั้นตอน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้โครงการรับซื้อไฟภาคประชาชนประสบความสำเร็จและเกิดประโยชน์สูงสุดเป็นไปตามเป้าหมาย
“โซลาร์ภาคประชาชนจะเป็นมิติใหม่ในการกำกับดูแลภาคพลังงานของ กกพ. เพราะนอกจากการออกระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า ยังจะอำนวยความสะดวกด้านการให้ข้อมูล และการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน เพื่อให้มีข้อมูลครบถ้วนในการตัดสินใจ และยืนยันทุกคนจะได้รับการพิจารณาอย่างโปร่งใส และเป็นธรรม อยากให้ประชาชนได้ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะการพิจารณาผลประโยชน์ที่จะได้รับ ควรคำนึงถึงความคุ้มทุนที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนด้วย หากมีการใช้ไฟฟ้าช่วงกลางวันมากอยู่แล้ว ระยะเวลาในการคุ้มทุนย่อมเร็วกว่า เป็นต้น “นายเสมอใจ
นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงาน กกพ. เปิดเผยว่า คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ เป็นบุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า และเป็นผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายไม่เกิน 10 กิโลวัตต์(KW) ต่อครัวเรือน ปริมาณการรับซื้อรวม 100 MW แบ่งเป็นพื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 MW และการไฟฟ้าส่วน
ภูมิภาครวม 70 MW ส่วนราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี