“สุเมธ” เทคออฟ การบินไทย ตัดวงจรขาดทุน ใช้เครื่องมือการเงินปั้นกำไร

HoonSmart.com>>ไม่ประหลาดใจเลย ! กรณีคณะกรรมการบริษัทการบินไทย (THAI) มีมติให้โอนทุนสำรองตามกฎหมายจำนวน 2,691 ล้านบาท และเงินสำรองที่เกิดจากส่วนล้ำมูลค่าหุ้นจำนวน 25,545 ล้านบาท เพื่อชดชดเชยผลขาดทุนสะสมในงบการเงินเฉพาะกิจการที่มีอยู่ทั้งสิ้น 28,533 ล้านบาท เพื่อต้องการจ่ายเงินปันผลตอบแทนผู้ถือหุ้นให้เร็วที่สุด คาดว่าขาดทุนเก่าที่เหลืออยู่เพียง 297 ล้านบาท จะสามารถลบล้างได้หมดภายในปี 2562 อย่างแน่นอน

การบินไทย ในยุค “สุเมธ ดํารงชัยธรรม” นักการเงิน ซึ่งเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2561 ที่ผ่านมา ก็พบปัญหาใหญ่ของสายการบินแห่งชาติ คือ“วงจรที่ก่อให้เกิดกับดักขาดทุน(ซ้ำซาก)”

“สุเมธ”ได้ประกาศลั่น “ต้องตัดวงจรตรงนี้ให้ได้ เพื่อให้เติบโตอย่างยั่งยืน” เรื่องแรก คือเครื่องบินเก่า ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงในการซ่อมบำรุง สร้างปัญหาในการให้บริการ หลายครั้งต้องยกเลิกเที่ยวบิน จึงเป็นที่มาของการจัดซื้อเครื่องบินจำนวน 38 ลำ แต่ต้องรอเวลาในการส่งมอบนาน 1-2 ปี ซึ่งธุรกิจรอไม่ได้ ต้องดำเนินการ”เช่าเครื่องบิน” และ”กระชับความร่วมมือกับไทยกรุ๊ป”ในการให้บริการ มีการนํา Digital Application มาเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างรายได้

และสิ่งที่ทำได้ทันทีคือ”การบริหารความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยนและราคาน้ำมัน” คาดว่าในปีนี้จะเผชิญกับความผันผวนน้อยกว่าปีที่ผ่านมา โดยบริษัทมีรายได้เป็นเงินบาทและเงินตราต่างประเทศกว่า 50 สกุล สกุลหลักได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ,เงินบาท ,ยูโรและเยน และมีค่าใช้จ่ายในสกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ และบาท ในขณะที่มีหนี้สินระยะยาวใน 4 สกุลหลัก ได้แก่ ดอลลาร์สหรัฐ ,ยูโร,บาทและเยน

แต่สิ่งที่“สุเมธ”ลงมือทำไปแล้วคือ การใช้เครื่องมือทางการเงินในการแก้ปัญหา”ขาดทุนการบินไทย” คือ การสละสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท สายการบินนกแอร์ (NOK) เมื่อเดือนม.ค. 2562 ที่ผ่านมาทำให้สัดส่วนการถือหุ้นลดลงจาก 21.80% เหลือจำนวน 15.94% หมายความว่า งบการเงินการบินไทยไม่ต้องรับรู้รายได้และขาดทุนของบริษัท สายการบินนกแอร์ อีกต่อไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป เพราะการถือหุ้นไม่ถึง 20% ทำให้สถานะของ NOK เปลี่ยนแปลงไป จากเดิมเป็นบริษัทร่วมของการบินไทย ตอนนี้เป็นเงินลงทุน จะรับรู้เพียงเงินปันผลเท่านั้น

ทั้งนี้ในปี 2561 บริษัท สายการบินนกแอร์ ขาดทุนสุทธิ 2,786 ล้านบาท การบินไทยต้องรับรู้ผลขาดทุนประมาณ 600-700 ล้านบาท จากการถือหุ้น NOK สัดส่วน 21.80%

อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ THAI ประสบปัญหาขาดทุนมากถึง 11,625 ล้านบาท ในปี 2561 ได้แก่ ค่าเสื่อมราคาที่มีมากถึง 3,129 ล้านบาท จากการด้อยค่าของทรัพย์สินตามมาตรฐานบัญชีใหม่ บริษัทเปลี่ยนประมาณการมูลค่าคงเหลือของเครื่องบินและเครื่องยนต์อะไหล่จาก 10% เหลือ 6% ของมูลค่าต้นทุนเริ่มแรก ในปีนี้ก็จะมีผลกระทบน้อยลง

“การบินไทยขาดทุนมาก ลงไปลึกถึงก้นเหวแล้ว แนวโน้มต้องดีขึ้นแน่ๆ ในปีนี้น่าจะเห็นกำไร แต่จะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับฝีมือในการหารายได้ โดยปี 2561 มีรายได้รวม 199,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,554 ล้านบาท คิดเป็น 3.9%”

ปัจจุบันบริษัทการบินไทยมีบริษัทย่อย 4 แห่ง ประกอบด้วย บริษัทไทย-อะมาดิอุส เซาท์อีสต์เอเซีย บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการเดินทางแบบครบวงจร การบินไทยถือหุ้น 55% บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส บริการงานด้านบุคลากรเฉพาะด้านให้กับบริษัท ถือหุ้น 49% บริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์ ถือหุ้นทั้งหมด 100% บริษัทไทยไฟลท์เทรนนิ่ง บริการฝึกอบรวมด้านการบิน ถือหุ้น 49% โดยบริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส ถือหุ้น บริษัททัวร์เอื้องหลวง 49%

“สุเมธ”มองเห็นโอกาสจาก 3 ธุรกิจคือ 1.รายได้หลักจากการบิน นอกจากการเช่าเครื่องบินมาให้บริการเพิ่ม จากปัจจุบันมีอัตราส่วนการบุรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ย 80% บริษัทต้องเพิ่มความร่วมมือกับบริษัทไทยสมายล์แอร์เวย์มากขึ้นและให้บริการครบวงจร โดยในปี 2561 มีรายการระหว่างกัน ด้านขายจำนวน 9,543 ล้านบาท และซื้อ 5,041 ล้านบาท รวมถึงการลงนามในสัญญาเช่าช่วงเครื่องบิน A320-200 กับบริษัท ไทยสมายล์แอร์เวย์ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561 จำนวนทั้งสิ้น 20 ลำ

2.ธุรกิจอาหาร “ครัวการบินไทย”มีศักยภาพสูงในการขยายตัวของรายได้ นอกจากให้บริการผลิตและจำหน่ายอาหารให้กับสายการบินอื่นๆแล้ว เมื่อปี 2561 ได้ลงนามร่วมมือกับ บริษัทขนส่งจำกัด และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก ในการส่งอาหารและเบเกอรี่ให้ บขส. และอเมซอนคาเฟ่ รวมถึงกำลังหาพันธมิตรในการผลิตและจำหน่ายอาหารแช่แข็ง คาดว่าในปีนี้จะมีรายได้และกำไรจากส่วนนี้เพิ่มขึ้น

3. รายได้จากการขายสินค้าและบริการเสริมจากธุรกิจการบิน เช่น การขายสินค้าบนเครื่อง รวมถึงอีคอมเมิร์ซ และรายได้จากการซื้อน้ำหนักเพิ่ม ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2562 เป็นต้นไป บัตรโดยสารเฉพาะที่นั่งชั้นประหยัด โหลดน้ำหนักกระเป๋าลดลงจาก 30 กิลโกรัมเหลือ 20 กิโลกรัม

“การบินไทยยังสามารถเพิ่มรายได้อีคอมเมิร์ซได้อีกมาก ปัจจุบันมีสัดส่วนเพียง 3% ของรายได้รวม ขณะที่สิงคโปร์แอร์ไลน์มีสัดส่วน 20% และลุฟท์ฮันซ่า 17% โดยสายการบินต่างประเทศได้อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารมาก สามารถสั่งซื้อของบนเครื่อง บริษัทจัดส่งสินค้าถึงบ้านเลย”

นอกจากนี้จะมีการเสนอแพ็กเกจให้นำโครงการสะสมระยะทาง (Royal Orchid Plus) มาใช้แลกบัตรโดยสาร เพราะในทางบัญชี เมื่อสมาชิกนำสิทธิมาใช้บริการจึงรับรู้เป็นรายได้ได้ แทนที่จะเป็นหนี้ โดยในปี 2561 บริษัทได้เปลี่ยนแปลงเกณฑ์การรับรู้รายได้ของบัตรโดยสารที่จำหน่ายแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้บริการ จากเดิมมีอายุเกินกว่า 24 เดือนเป็นเกินกว่า 15 เดือน นับจากวันออกบัตรโดยสาร ทำให้รับรู้รายได้จำนวน 1,027.73 ล้านบาท

การแก้ปัญหาของบริษัทการบินไทยคงไม่สามารถใช้วิธีการทางธุรกิจการบินเพียงอย่างเดียว จะต้องอาศัยทางลัดจากเครื่องมือทางการเงินในการลดขาดทุนจริง และขาดทุนทางบัญชี เพื่อให้บรรทัดสุดท้ายมีกำไรสุทธิ สร้างความพึ่งพอใจให้กับผู้ถือหุ้น และปรับปรุงการให้บริการให้เป็นที่พอใจของผู้ใช้บริการ เชื่อมั่นว่าบริษัทการบินไทยจะมีกำไรจากการดำเนินงานอย่างยั่งยืนตามแผนฟื้นฟูนับตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป