HoonSmart.com>>”ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง” ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่อันดับหนึ่งของไทย วางกลยุทธ์การเติบโตอย่างยั่งยืน จับมือพันธมิตร มุ่งขยายไปสู่ธุรกิจสาธารณูปโภค ทั้งธุรกิจรถไฟฟ้า, สื่อสาร และน้ำประปา และยังสนใจเข้าลงทุนในแบตเตอร์รี่ รวมถึงธุรกิจต้นน้ำ ก๊าซ LNG และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบินในอนาคต รวมถึงมองหาโอกาสทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างน้อยตัวเลขสองหลัก
“กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH) ให้สัมภาษณ์กับ www.HoonSmart.com ว่า ตามแนวโน้มของโลก การทำธุรกิจไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวคงอยู่ไม่ได้แล้ว แม้ธุรกิจไฟฟ้าจะยังมีการเติบโต แต่บริษัทก็ต้องวางแผนระยะยาว เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน จึงมีการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานอื่นๆ ด้วย ที่ผ่านมาบริษัทมีการลงทุนในระบบราง เกี่ยวกับรถไฟฟ้าร่วมกับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) ภายใต้ชื่อกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์
นอกจากนี้ยังได้ร่วมกับบริษัท เอแอลที เทเลคอม (ALT) ลงทุนโครงข่ายสายใยแก้วนำแสงใต้ดิน โดย RATCH ถือหุ้น 49% และ ALT ถือหุ้น 51% เป็นธุรกิจด้านการสื่อสาร ที่มีความน่าสนใจ และสามารถสนับสนุนการเติบโตได้
รวมถึง RATCH ยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจน้ำประปาที่ประเทศลาว โดยถือหุ้น 40% ในโครงการน้ำประปาแสนดิน จำหน่ายให้กับรัฐวิสาหกิจน้ำประปานครหลวงเวียงจันทร์ มีระยะเวลาสัมปทาน 50 ปี ขณะเดียวกัน RATCH กำลังศึกษาที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจน้ำประปาในเวียดนามอีกหนึ่งแห่ง ซึ่งเป็นประเทศที่มีความน่าสนใจเข้าไปลงทุน
กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะลงทุนสาธารณูปโภคอื่นๆ อีกอย่างต่อเนื่อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ ธุรกิจแบตเตอร์รี่ กักเก็บพลังงาน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเจรจากับพันธมิตรที่จะร่วมทน แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุป รวมถึงกำลังศึกษาธุรกิจด้านต้นน้ำเกี่ยวกับการจัดหาก๊าซ LNG ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่มีแผนจะนำเข้าในปีนี้ จำนวน 1.5 ล้านตันต่อปี และในอนาคตก็มองถึงธุรกิจเกี่ยวกับสนามบิน ที่สนใจจะเข้าลงทุน
“เราลงทุนตามเทรนของโลก ตอนนี้เราทำไฟฟ้า และลงทุนในสื่อสาร ยังมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานจริง อย่างน้ำประปา ระบบราง ต่อไปในพอร์ตก็อาจจะมีการลงทุนเกี่ยวกับด้านสนามบินอันนี้เป็นเทรน เพราะอนาคตคนเพิ่มขึ้น การเดินทางก็มากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะทำให้เราเติบโตได้อย่างยั่งยืน”
นโยบายการลงทุนของ RATCH จะพิจารณาอย่างรอบคอบในด้านความเสี่ยงต่างๆ โดยร่วมกับพันธมิตรในการทำธุรกิจ เพราะมองว่าบริษัทไม่ได้มีความชำนาญในธุรกิจที่ลงทุน และหากไปลงทุนต่างประเทศ ก็จะดึงพันธมิตรประเทศนั้นๆ ร่วมถือหุ้น เพราะสามารถช่วยพิจารณาความเสี่ยงต่างๆ ตั้งแต่ กฎระเบียบตลอดจนความเสี่ยงต่างๆ ด้านกฎหมาย ด้านภาษี
นอกจากนี้ การลงทุนจะถือหุ้นไม่เกิน 50% เพราะจะได้ไม่ต้องนำมาอยู่ในงบการเงินรวม หากเกิดอะไรขึ้นจะได้ไม่กระทบต่อบริษัทแม่ แต่ในด้านของอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน RATCH ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ เพราะแต่ละประเทศความเสี่ยงไม่เท่ากัน แต่ในเบื้องต้นกำหนดไว้อย่างน้อยเป็นตัวเลขระดับสองหลักต้นๆ
“เครดิตบริษัทค่อนข้างดีมาก เทียบเท่ากับประเทศ ต้นทุนทางการเงินของเราค่อนข้างถูก ส่วนใหญ่พันธมิตรก็อยากให้เข้าไปร่วมด้วย โอกาสของเราจึงค่อนข้างสูง เพียงแต่เราต้องจับให้ดีนิดนึง ทำแล้วจะได้ผลตอบแทนกลับมาที่คุ้มค่า และต้องคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วย”กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าว
กิจจา กล่าวอีกว่า ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนสามารถเกื้อหนุนซึ่งกันและกันได้ ในอนาคตจะเห็นว่าในระบบสื่อสาร ซึ่งสามารถช่วยการบริหารจัดการทางด้านธุรกิจพลังงานดีขึ้น เพราะต้องร่วมกันต่อไปจะเกิดเป็นสมาร์ทกริด สมาร์ทซิตี้ เราก็ดูว่าโอกาสที่จะทำให้บริษัทขยายต่อไปได้ ต้องนำระบบสื่อสารเข้ามาร่วมกับธุรกิจไฟฟ้า
ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ RATCH ยังเป็นธุรกิจไฟฟ้าเป็นรายได้หลักในสัดส่วนประมาณ 80-90% แต่ในอนาคตก็จะลดลง หลังจากขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ในปี 2561 บริษัทฯมีกำไรสุทธิ 5,587 ล้านบาท ลดลงจำนวน 450.92 ล้านบาท คิดเป็น 7.5% จากปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ เพราะผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย ขณะที่มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน จากบริษัทร่วม และบริษัทร่วมค้าจำนวน 4,735 เพิ่มขึ้นจำนวน 1,140 ล้านบาท คิดเป็น 31.7% จากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งจำนวน 3,595 ลานบาท
RATCH ได้วางเป้าหมายในปี 2566 จะมีกำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์(MW) เทียบเท่า จากปี 2561 อยู่ที่ 7,639.12 MW เทียบเท่า
การเติบโตในอนาคต นอกเหนือจากการลงทุนเพิ่มในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักแล้ว ยังรวมถึงธุรกิจด้านสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จะเข้ามาเพื่อผลักดันให้ได้ตามเป้าที่กำหนดไว้