ADVANC-TRUE สอบผ่าน 3 ยักษ์มือถือลั่นแข่งดุ เป้ารายได้ปีนี้โต

HoonSmart.com>> ในปี 2561 สมรภูมิการแข่งขันของธุรกิจโทรคมนาคมดุเดือดมาก ผู้ประกอบการธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 3 ราย ต่างงัดแคมเปญออกมาดึงดูดลูกค้ากันสุดๆ ทำให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)มีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อเนื่องถึงรายได้ค่าบริการ และกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อม(EBITDA)เติบโต

ขณะเดียวกัน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่อยู่ในระหว่างการจัดบ้านให้เรียบร้อย เตรียมคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHzให้พร้อม และยอมจ่ายเงินกว่า 9,510 ล้านบาทระงับข้อพิพาทกับกสท โทรคมนาคม จึงไม่สามารถบุกได้เต็มที่มากนัก ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการในปีที่ผ่านมา พลิกเป็นขาดทุนสุทธิ 4,368 ล้านบาท จากปี 2560 มีกำไรสุทธิ 2,114 ล้านบาท

“โดยรวมแล้ว 3 บริษัท มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 32,340 ล้านบาท ลดลง 402 ล้านบาท คิดเป็น 1.22% เพราะนอกจาก DTAC จะประสบปัญหาขาดทุนแล้ว ADVANC ยังมีผลกำไรสุทธิเพียง 29,682 ล้านบาท ลดลงประมาณ 1.31% จากปี 2560 ที่มีกำไรสุทธิ 30,077 ล้านบาท ส่วน TRUE มีกำไรสุทธิพุ่งขึ้นจาก 551 ล้านบาท เป็น 7,034 ล้านบาท แต่ในไตรมาส 4/2561 ขาดทุนหนักถึง 3,000 ล้านบาท ผิดจากความคาดหมายของตลาดไปมากทีเดียว”

สำหรับแนวโน้มในปี 2562 ทั้ง 3 รายประกาศพร้อมสู้ตาย ตั้งเป้ารายได้ค่าบริการโตด้วยเลขหลักเดียว และวางแผนการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดย TRUE ประกาศทุ่มงบลงทุนมากถึง 4 หมื่นล้านบาท หลังจากประสบความสำเร็จในปี 2561 มีกำไรสุทธิก้าวกระโดดเป็น 7,034 ล้านบาท แม้จะตกม้าตายในไตรมาส 4 ที่ขาดทุนมากถึง 3,000 ล้านบาทก็ตาม ทำให้นักลงทุนผิดหวัง เทกระจาดหุ้นร่วงลงแรงกว่า 10% หรือ 0.58 บาท ปิดที่ 4.80 บาท เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2562 ที่ผ่านมา จนบริษัทเต้น ต้องทำจดหมายชี้แจงตลาดหลักทรัพย์ว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้รายได้ลดลงในไตรมาส 4 เกิดจากการยกเลิกแคมเปญทางการตลาดบางประการ และลดระดับการให้ส่วนลดค่าเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างมีนัยสำคัญ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มฐานลูกค้าที่มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น

ส่วนคำแนะนำของนักวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ให้ “ถือ” ราคาเป้าหมาย 7.10 บาท/หุ้น เพราะมีข่าวดีรออยู่ตรงหน้า ลุ้นยืดหนี้คลื่น 900 MHz มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท ที่ครบชำระในปี 2563

บล.ฟิลลิป แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 8.10 บาท/หุ้น เพราะ TRUE ตั้งเป้าหมายรายได้จากการให้บริการเติบโตระหว่าง 5-10%

สาเหตุที่ทำให้ TRUE ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิ 3,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 พลิกจากไตรมาส 3 ที่มีกำไรสุทธิ 385 ล้านบาท ถูกกดดันจากรายได้การให้บริการ (ไม่รวม IC) ลดลง 5.9% แม้จำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 0.46 ล้านรายจาก 28.75 ล้านราย มาอยู่ที่ 29.218 ล้านราย แต่ ARPU ยังคงปรับตัวลงมาอยู่ที่ 204 บาท/เลขหมาย/เดือน จากไตรมาส 3 ที่ 207 บาท/เลขหมาย/เดือน

นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานหลัก เช่น ต้นทุนในการให้บริการ (ไม่รวม IC) และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มสูงขึ้น 4.8% เป็นผลจากค่าโครงข่าย รวมถึงการจ่ายค่าเช่าให้ DIF หลังขายสินทรัพย์เข้ากองทุนเมื่อเดือน พ.ค. 2561 กดดัน EBITDA ปรับตัวลง 31% และยังมีค่าใช้จ่ายพิเศษจำนวน 1,103 ล้านบาท หลังมีการบรรลุข้อพิพาทส่วนใหญ่ระหว่าง TRUE กับ CAT ส่วนภาพรวมทั้งปี 2561 TRUE มีกำไรสุทธิ 7,035 ล้านบาท เติบโตเด่น หลักๆ เป็นผลจากการขายสินทรัพย์เข้ากองทุน DIF