HoonSmart.com ส่งออกเดือนม.ค.หดตัว 5.7% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดไตรมาสแรก ติดลบ 8-4 % 3 ไตรมาสข้างหน้าค่อยๆดีขึ้น คาดทั้งปีเติบโต 4.5% ส่วนค่ายไทยพาณิชย์ คาดส่งออกปีนี้ขยายตัว 3.4%
กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขส่งออกเดือนม.ค.หดตัว 5.7% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลกระทบของสงครามการค้า และแนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ยังเป็นปัจจัยกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าในไตรมาส 1/2562 หดตัวในช่วงกรอบประมาณการที่ -8.0 ถึง -4.0% (ค่ากลางที่ -6.0%) คิดเป็นมูลค่าส่งออกเฉลี่ยประมาณ 19,300-20,100 ล้านดอลลาร์ฯ ต่อเดือน จากปัจจัยฐานในปี 2561 ที่สูงผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีอื่นๆ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลของปัจจัยเฉพาะ เช่น การซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ การส่งออกสินค้ารายการพิเศษ (สินค้าในหมวดอากาศยาน ยานอวกาศ และส่วนประกอบ) ไปญี่ปุ่น เป็นต้น
แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยจะค่อย ๆ ดีขึ้นในช่วง 3 ไตรมาสหลัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนมีสัญญาณที่ดีขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในปี 2562 ไว้ที่ 4.5% (กรอบประมาณการ 2.0 – 6.0%)
ส่วนค่ายไทยพาณิชย์ คาดส่งออกไทยปีนี้ขยายตัวที่ 3.4% ชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอลง ราคาน้ำมันดิบโลกที่คาดว่าจะมีทิศทางทรงตัว มีผลให้มูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและเคมีภัณฑ์ชะลอลงเช่นกัน
นอกจากนี้ สินค้าส่งออกไทยหลายกลุ่มยังมีโอกาสได้รับผลกระทบมากขึ้นจากมาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มเติม ที่เริ่มใช้ในปีก่อนหน้า โดยยังต้องติดตามท่าทีของทางจีนและสหรัฐฯ โดยไทยพาณิชย์ประเมินว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเลื่อนการขึ้นภาษีออกไปก่อน และน่าจะสามารถมีข้อตกลงได้ภายในครึ่งหลังของปีนี้
ส่วนประมาณการมูลค่านำเข้าในปีนี้ ขยายตัวที่ 3.6% ชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าวัตถุดิบสำหรับผลิตเพื่อส่งออกมีแนวโน้มชะลอตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและการนำเข้าสินค้าเชื้อเพลิงมีแนวโน้มปรับตัวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันดิบโลก
อย่างไรก็ดี คาดว่าสินค้านำเข้าประเภททุนและอุปโภคบริโภค จะยังขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนในประเทศทั้งจากภาคเอกชนและภาครัฐ