PTTGC รายได้ใกล้ปีก่อน 5แสนล. ปิดซ่อมโรงกลั่นปลายปีนี้

HoonSmart.com พีพีที โกลบอลฯคาดราคาปิโตรเคมีลดลง หวังรายได้ปีนี้ใกล้เคียงปีก่อน มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น-อะโรมิกส์ ตั้งงบลงทุน 4 หมื่นล้านใช้ขยายธุรกิจ ยังมองหาโอกาสซื้อกิจการช่วยหนุนการเติบโต

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) คาดว่ารายได้ปีนี้จะใกล้เคียงกับปีก่อนระดับ 5.15 แสนล้านบาท เนื่องจากราคาปิโตรเคมีที่อ่อนตัวลง แต่บริษัทมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มจากการซื้อกิจการ PTA และ PET

เมื่อกลางปีก่อน PTTGC ได้ซื้อหุ้นบริษัท SIAM Mitsui PTA (SMPC) ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์กรดบริสุทธิ์เทเรพาธิค (PTA) 74% และซื้อหุ้นบริษัท Thai PET Resin (TPTC) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติกโพลิเอทิลีน(PET) 74% จากบริษัทเอสซีจี เคมิคอลล์

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าโครงการสร้างโรงงานรีไซเคิล ในจังหวัดระยอง มีมูลค่าโครงการประมาณ 2 พันล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรจากยุโรป ซึ่งจะให้เข้ามาร่วมถือหุ้นประมาณ 30-50% และนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุน มีกำลังการผลิต 4 หมื่นตันต่อปี คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จในปี 2563

ส่วนโครงการปิโตรคอมเพล็กซ์ที่สหรัฐ ร่วมทุนกับพันธมิตรจากเกาหลีใต้ มีกำลังการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี คาดว่าภายใน 4-5 เดือนจะได้ข้อสรุปด้านเงินลงทุน ขณะนี้เศรษฐกิจสหรัฐดีขึ้น ทำให้ค่าแรงงานและราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น ขณะเดียวกันบริษัทวางเป้าหมายจะเลิกการผลิตพลาสติกที่ใช้ในครั้งเดียวทิ้ง ภายในอีก 5 ปีข้างหน้าเพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะหันไปผลิตไบโอพลาสติกแทน

นางดวงกมล เศรรษฐธนัง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงินและบัญชี กล่าวว่า ในปีนี้โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กร (MAX) จะมีอิบิทด้าเข้ามาประมาณ 4-5 พันล้านบาท ขณะที่ในปีก่อนได้รับประมาณ 6.5 พันล้านบาท และยังมีแผนปิดซ่อมบำรุงใหญ่โรงกลั่นในไตรมาส 4 เป็นเวลา 50 วัน กำลังการผลิตลดเหลือ 86% จาก 100% ในปีก่อน และจะปิดซ่อมบำรุงอะโรเมติกส์ในไตรมาส 2 เป็นเวลา 30 วัน กำลังการผลิตจะลดลงเหลือ 87% จาก 93% ในปีก่อน

อย่างไรก็ตาม กำลังการผลิตในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน จากการซื้อธุรกิจ PTA และ PET ส่วนในปีหน้าคาดว่ากำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% เพราะไม่มีการปิดซ่อมบำรุง

ส่วนเงินลงทุนในปีนี้อยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทจะนำไปใช้ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตโอเลฟินส์ และใช้ในโครงการ Propylene Oxide (PO) ทั้ง 2 โครงการคาดจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2563 ส่วนงบลงทุนที่เหลือใช้ในการซ่อมบำรุง รวมถึงการซื้อกิจการหรือการร่วมทุน

นอกจากนี้กำลังพิจารณาการออกหุ้นกู้ ทำให้ต้นทุนทางการเงินลดลง แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะออกมูลค่าเท่าใด ที่ผ่านมาบริษัทได้ขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นแล้ว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งได้ออกไปแล้วจำนวน 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะเดียวกันบริษัทมีหนี้อยู่ที่ 9.5 หมื่นล้านบาท จะต้องคืนหนี้ปีละ 1 หมื่นล้านบาท และขณะนี้มีกระแสเงินสดอยู่ที่ 6 พันล้านบาท