เอเชียพลัสมองHANA,CPF, GFPT, TUได้ดีบาทอ่อน

เอเซียพลัสคาดสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไปยาวถึงปี 2563 รวม 8 ครั้งรวม 2% ยุโรปขึ้นดอกเบี้ยสกัดเงินเฟ้อ เอเชียดอกเบี้ยต่ำอีกนาน

บล.เอเซียพลัส วิเคราะห์เงินบาทอ่อนค่าเร็วและแรง แนะนำหุ้นส่งออกที่ได้ประโยชน์และราคาหุ้นยังปรับตัวขึ้นไม่มาก HANA, CPF, GFPT, TU

สหรัฐยังคงส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไปและยาวถึงปี 2563 รวมทั้งหมด 8 ครั้งราว 2% จากปัจจุบัน 1.5% (ภายในสิ้นปีนี้จะขึ้น 2 ครั้งและในปี 2562- 2563 ขึ้นอีกปีละ 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25%) เพราะเงินเฟ้อยังคงเกินเป้าหมายที่ 2% หนุนดอลลาร์แข็งแกร่งมากที่สุดเมื่อเทียบทุกสกุลของโลก

ส่วนธนาคารกลางยุโรปน่าจะขึ้นดอกเบี้ย เพื่อกำจัดเงินเฟ้อที่เริ่มสูงเช่นกัน เริ่มจากธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) แม้การประชุมวันพฤหัสบดีนี้อาจยืนดอกเบี้ยฯ ที่ 0.5% แต่มีโอกาสขึ้น 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้เป็น 1% ( เมื่อ พ.ย. ขึ้นครั้งแรกในรอบ 10 ปี) แต่ยังต่ำกว่าเงินเฟ้อสูง 2.5% (เป้าหมาย 2.0%) แต่เพื่อลดผลกระทบเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว เห็นได้จากเศรษฐกิจไตรมาส1 โต 1.2% จาก 1.4%ในไตรมาส 4 ท่ี่ผ่านมา กดดันเงินปอนด์อ่อนค่าต่อเนื่อง (อ่อนค่าแล้ว 5.6% นับจากกลางเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา)

ตรงข้ามเอเชียยังใช้ดอกเบี้ยต่ำ ทั้งไทย อินโดนีเซีย, ฟิลิปปินส์, อินเดีย เพราะเศรษฐกิจฟื้นตัวล่าช้า และ เงินเฟ้อต่ำกว่าดอกเบี้ยฯ (ยกเว้นมาเลเซียขึ้นดอกเบี้ยฯไปเมื่อต้นปีนี้) กดดันเงินเอเชียอ่อนค่า โดยเฉพาะเงินบาทอ่อนตัวอย่างรวดเร็วล่าสุดยืนเหนือ 32 บาทต่อดอลลาร์ หลังจากแข็งค่า 13.5% ใน 2 ปีที่ผ่านมา (สูงสุด 36.4 บาท เมื่อ ก.ย. 2558) และริงกิตมาเลเซียที่กลับมาอ่อนค่า 4% ในช่วงเดียวกัน (หลังจากแข็งค่าราว 12.1% นับจากต้นปี 2560) ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันเงินทุนไหลออกทั้งภูมิภาค แต่จะดีต่อหุ้นส่งออกน่าจะได้ประโยชน์