HoonSmart>>ปูนซิเมนต์ไทย วางกลยุทธ์รับมือความไม่แน่นอน ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนส่วนหนึ่ง ประเมินเงินบาทแข็งค่าทุก 1 บาท/ดอลลาร์ กระทบกำไร 2,500-2,600 ล้านบาท /ปี เน้นขยายตลาด-ลงทุนในอาเซียน สร้างนวัตกรรม เดินหน้าลงทุนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม คาดแล้วเสร็จในปี 2566 เพิ่มรายได้ต่างประเทศ
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) เปิดเผยว่า บริษัทฯวางกลยุทธ์รองรับความไม่แน่นอนของเทคโนโลยี การแข่งขัน สงครามการค้ารวมถึงการเมืองระหว่างประเทศ และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยมีการบริหารความเสี่ยงทางการเงินบางส่วน เบื้องต้นประเมินว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุก 1 บาท/เหรียญสหรัฐ จะกระทบกำไรประมาณ 2,500-2,600 ล้านบาท/ปี เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 2,000 ล้านบาท เพราะพอร์ตปิโตรเคมีและมีรายได้ต่างประเทศมากขึ้น ปัจจุบันมีการส่งออกและการผลิตในต่างประเทศอยู่ประมาณ 45-55% ของรายได้ทั้งเครือ
กรรมการผู้จัดการใหญ่ กล่าวว่า ในปีนี้บริษัทคาดว่ายอดขายเติบโต 5% จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 4.78 แสนล้านบาท เน้นขยายตลาดในอาเซียน คาดเติบโต 5-5.5%และเพิ่มการลงทุนมาอยู่ที่ 70 ต่อ 30 จากเดิมอยู่ระดับ 40 ต่อ 50 จากงบลงทุนกว่า 6 หมื่นล้านบาท มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่คือปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ ในเวียดนาม หากแล้วเสร็จในปี 2566 จะทำให้สัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มเป็นประมาณ 60%
ปัจจุบัน บริษัทมีการลงทุนในอาเซียน 3 ธุรกิจหลัก คือ ธุรกิจปิโตรเคมีลงทนในประเทศหลัก ทั้งไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย ,ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ ลงทุนในไทย เวียดนาม ฟิลิปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ส่วนธุรกิจซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ลงทุนทั้งในไทย เมียนมา ลาว อินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา สำหรับการลงทุนนอกกลุ่มอาเซียน ได้เข้าร่วมทุนในธุรกิจโลติสติกส์ในจีน และมีการส่งสินค้าไปจำหน่ายยังอินเดีย
“บริษัทยังคงเน้นตลาดอาเซียน และการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าทั้งด้านสินค้าและบริการในรูปแบบโซลูชั่น รองรับความไม่แน่นอนและเพิ่มความมั่นคงทั้งด้านการเงิน การทำธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพการเติบโต เช่น โครงการขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์ในประเทศ และปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนาม ให้สำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการลงทุนต่างๆ ยังอยู่ภายใต้การเติบโตอย่างยั่งยืน “นายรุ่งโรจน์กล่าว
สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี ที่เป็นพอร์ตธุรกิจที่ใหญ่ที่สุด ยังมีความท้าทายอยู่มากจากความไม่แน่นอนสูงผันผวนตามราคาน้ำมัน ในปีนี้จะมีกำลังผลิตเม็ดพลาสติกจากมาเลเซียเข้ามาในตลาดโลก 1.5-1.6 ล้านตัน ทำให้การแข่งขันรุนแรงขึ้น ซึ่งระยะสั้นต้องสร้างสินค้าและบริการให้ตอบโจทย์ของลูกค้า นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการลดต้นทุนด้วยการลงทุนผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เพื่อใช้ในโรงงาน ในปีนี้มีแผนจะเพิ่มกำลังการผลิตอีก 33 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 50 เมกะวัตต์ และมีโอกาสที่จะขยายไปภายนอกเครือบริษัทด้วย
ธุรกิจซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง มีความท้าทายด้านตลาด โดยตลาดในประเทศคาดว่าจะดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งต้องพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าและสร้างโซลูชั่นเพื่อตอบโจทย์การให้บริการแก่ลูกค้าตั้งแต่การติดตั้งและการบริการหลังการขาย เพื่อขายสินค้ามากขึ้น ด้านธุรกิจบรรจุภัณฑ์ มีความแข่งขันรุนแรงมากขึ้น เน้นเรื่องการดีไซน์ สร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า บริษัทยังให้ความสนใจต่อธุรกิจไบโอพลาสติก และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะเป็นเทรนด์ของโลกในอนาคต เชื่อว่าการผลิตเม็ดพลาสติกยังมีความต้องการอยู่มาก