จับตา “มือที่มองไม่เห็น” สั่งสกัดมือใหม่ IPP “BGRIM” ลั่นสู้ไหว ขอกติกาเป็นธรรม

HoonSmart.com >> ทุกเสียงขานรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2562 ที่ผ่านมา แต่ทุกสายตากำลังติดตามการทำงานของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่าจะประกาศรับซื้อไฟฟ้าอย่างไร โดยเฉพาะจากผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (IPP) หรือผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ เพราะมีเสียงดังกระฉ่อนว่า“ผู้มีอำนาจ”สั่งให้วางกติกา ห้ามผู้ประกอบการที่ไม่มีประสบการณ์ IPP ลงสนามแข่งขันในรอบนี้..

“ปรียนาถ สุนทรวาทะ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ให้ความเห็นว่า รัฐบาลนี้ทำได้ดีมากเรื่องพลังงาน คือไม่ส่งเสริมเร็วจนมีปัญหา และไม่ช้าเกินไป มาตรการที่ออกมามีความชัดเจนระดับหนึ่ง แต่สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือความชัดเจนจะต้องมีมากกว่านี้ และการจะออกหลักเกณฑ์ในเรื่องสำคัญ ก็ควรจะมีการหารือหรือเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของบุคคลในวงการก่อน

ยกตัวอย่างกรณี PDP 2018 ที่ให้ความสำคัญเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการร่างประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากIPP (ทีโออาร์) ต้องมีความเป็นธรรม โปร่งใส และเปิดกว้างให้โอกาสให้ผู้ประกอบการทุกคน “ประสบการณ์”ที่กำหนดก็ไม่ควรตีกรอบเฉพาะเรื่อง IPP เท่านั้น

“ขอดักคอไว้ก่อน ตอนนี้เริ่มมีการร่างทีโออาร์ โดยไม่มีการหารือกับคนในวงการ และเริ่มจะให้วางกติกาว่าห้ามบริษัทที่ไม่เคยทำ IPP เข้าร่วมประมูล คราวนี้ทำไมถึงมองว่าเราไม่มีประสิทธิภาพที่จะทำ ทำไมถึงปิดกั้นโอกาส ที่พูดมาทั้งหมดนี้ เพราะไม่ได้มองแต่เราคนเดียว หลายบริษัทมีความพร้อม”

ปรียนาถ สุนทรวาทะ

ตอนพี่เข้ามาทำโรงไฟฟ้ารายเล็กหรือ SPP โรงแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้วมา มีบริษัทผลิตไฟฟ้าหรือ EGCO เข้ามาถือหุ้น เอาเกณฑ์ SPP และ IPP ของสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้และเข้มข้นกว่าด้วย และที่ผ่านมาบีกริมฯมีการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้า SPP จนมีความชำนาญ มีโรงไฟฟ้าหลายแห่งในนิคมอุตสาหกรรม ผลิตและขายไฟให้ลูกค้าอุตสาหกรรมหลายราย คนบริหารของเรา บุคคลากรแถว 1 แถว 2 ก็มาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือกฟผ. ทำไมถึงจะทำไม่ได้ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันอย่างดีว่าเทคโนโลยีทันสมัย ก้าวล้ำมาก เราสู้ได้ตลอด ถ้าหลักเกณฑ์มีความโปร่งใส และเป็นธรรม เรามีความพร้อมในการแข่งขัน แม้ยังไม่มี IPP ก็จะหาคนอื่นมาช่วยได้

นอกจากนี้ใน PDP 2018 มีนโยบายเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป)จากประชาชน ทางกกพ.ควรมีความชัดเจนในเรื่องหลักเกณฑ์ จะควบคุมความสมดุลอย่างไร หากจะรับซื้อไฟหลายเมกะวัตต์ ทุกคนติดตั้ง ทุกคนเข้าระบบได้หมด จะควบคุมไม่ให้ไฟกระพริบได้อย่างไร หรือต้องมีแบ็คอัพชาร์จ ระบบสายส่งมีเสถียรภาพแค่ไหน เพียงพอหรือไม่ เป็นเรื่องต้องคิดและวางแผน

“ปัญหาเคยเกิดขึ้นในประเทศสเปน คนแห่ลงทุนโซลาร์เยอะ แต่ในที่สุดประชาชนแบกรับค่าไฟไม่ไหว เพราะพอมีโซลาร์มาก ไม่มีเสถียรภาพ จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน สัดส่วน 1 ต่อ 1 ค่าไฟก็พุ่งขึ้น รัฐบาลต้องอุ้ม ในที่สุดก็เลิกอุ้ม คนก็เจ๊ง ต้องมีความสมดุล ต้องวางหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟ ต้องมีการกักเก็บพลังงาน จะต้องมีสำรองแบกอัพสายส่งหรือไม่ มิเช่นนั้นอาจจะเกิดปัญหาในภาพหลัง”

ในอนาคตการลงทุนโซลาร์ต้องมีระบบกักเก็บพลังงาน หรือ battery storage ที่แพงกว่าและเป็นมากกว่าแบตเตอรี่ ทำหน้าที่เก็บพลังงานส่วนเกินหรือจ่ายไฟเข้าระบบ ช่วยรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า

นอกจากนี้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือสมาร์ทกริด เป็นทิศทางจะต้องไป ควบคุมการผลิตและการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพจากทั้ง SPP โซลาร์รูฟท็อป และไมโครกริด มีซอฟท์แวร์รวบรวมข้อมูลของโรงไฟฟ้าต่างๆ รู้ว่าใครใช้ไฟมากหรือน้อยช่วงไหน รวมถึงพยากรณ์สภาพอากาศ เพื่อคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนจะมีการผลิตไฟฟ้าในช่วงใดมาก จะรู้ว่าจะเก็บสำรองเท่าไร ที่สำคัญข้อมูลต่างๆสามารถดึงออกมาใช้ได้โดยเร็ว ซึ่งทุกฝ่ายเห็นถึงความจำเป็นจะต้องมี เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ แต่กฎเกณฑ์ยังไม่คลอดออกมา…