HoonSmart.com >> กสิกรไทย คาดอัตราแลกเปลี่ยนยังผันผวน แนะผู้ประกอบการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมรับมาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ IFRS 9 และ IFRS16
นายธิติ ตันติกุลานันท์ ผู้บริหารสายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ประเทศไทยจะมีการใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ IFRS 9 และ IFRS16 ในปี 2563 โดย IFRS9 กำหนดให้มีการ Mark to Market อนุพันธ์ทางการเงิน ทำให้เกิดความผันผวนในงบกำไรขาดทุน ส่วน IFRS16 เปลี่ยนวิธีการบันทึกสัญญาเช่าดำเนินงานจากค่าใช้จ่ายเป็น Finance Lease Liability ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของบริษัท
“FRS16 จะทำให้บริษัทที่มีการเช่าดำเนินงาน เช่น เช่าสำนักงาน เช่าโรงงาน เช่ารถผู้บริหาร เช่าเครื่องบิน ต้องเปลี่ยนจากค่าใช้จ่ายรายเดือนมาบันทึกเป็นสินทรัพย์และหนี้สิน ทำให้อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพิ่มขึ้น และ ROA จะลดลง เพราะบันทึกสินทรัพย์เพิ่มขึ้นแต่ผลประกอบการเท่าเดิม ทุนเท่าเดิม รวมทั้งภาพรวมของธุรกิจไม่ได้เปลี่ยนไป บริษัทจึงต้องทำความเข้าใจกับนักลงทุนและผู้ถือหุ้นกู้” นายธิติ กล่าว
ทั้งนี้ธนาคารกสิกรไทยได้จัดเตรียมทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่พร้อมให้คำแนะนำทั้งการใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงและผลกระทบทางบัญชี (Hedge Accounting) ไว้พร้อมบริการลูกค้า เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถบริหารจัดการกระแสเงินสดสกุลเงินต่างประเทศ บริหารต้นทุน และบริหารจัดการ Structured Balance Sheet ได้ดียิ่งขึ้นพร้อมสะท้อนผลการดำเนินงานดังกล่าวในงบการเงินได้อย่างเหมาะสม
ธนาคารยังคงมีเป้าหมายในการเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการตราสารหนี้ที่เป็นเลิศ และพร้อมสร้างประสบการณ์การทำงานแบบมืออาชีพในการดูแลทั้งด้านผู้ออกตราสารหนี้และนักลงทุน รวมไปถึงให้การสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิเช่น Blockchain เข้ามาใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานในตลาดตราสารหนี้ไทย
ในปี 2562 ตลาดตราสารหนี้ไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีก เนื่องจากมีตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 5 แสนล้านบาท ประกอบกับความต้องการระดมทุนใหม่จากผู้ออกตราสารหนี้ จึงคาดว่าในปี 2562 จะมีมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวอยู่ที่ 8.7 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 3-4% จากมูลค่าการออกตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 8.4 แสนล้านบาท (รวมตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายโดยผู้ออกตราสารหนี้เอง) แต่จะมีความท้าทายในการดำเนินธุรกิจมากขึ้นจากความผันผวนของสภาพตลาด
สำหรับกลุ่มธุรกิจตราสารหนี้ ในปี 2561 ธนาคารกสิกรไทยยังคงเป็นผู้นำทั้งทางด้านการค้าตราสารหนี้ภาครัฐและเอกชนในตลาดรองและด้านการออกและการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจ (Corporate Bond and SOE Underwritings) โดยมีมูลค่ารวมของการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาวที่ขึ้นทะเบียนกับสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยสูงสุดเป็นอันดับ 1 คิดเป็นมูลค่า 173,288.09 ล้านบาท หรือคิดเป็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่ 22.53% (ไม่รวมตราสารหนี้ที่ออกและเสนอขายโดยผู้ออกตราสารหนี้เอง) โดยธนาคารทำการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ภาคเอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อตั้งแต่ระดับ A+ ขึ้นไป ถึงประมาณ 60% ของมูลค่าจัดจำหน่ายตราสารหนี้ทั้งหมดที่ธนาคารเป็นผู้จัดจำหน่าย
สถานการณ์ค่าเงินบาท ธนาคารคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งแรกของปีเงินบาทจะได้รับแรงกดดันให้แข็งค่าเนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาลเป็นสำคัญ เนื่องจากในฤดูกาลท่องเที่ยวจะมีเม็ดเงินปริมาณมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามายังไทยและกดดันให้เงินบาทแข็งค่าตั้งแต่ช่วงต้นปีไปจนถึงกลางเดือนเมษายนของทุกปี
นอกจากนี้ สถานการณ์ในฝั่งสหรัฐฯ ยังสนับสนุนให้เงินบาทและเงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้น เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในครั้งต่อไปออกไปจากความกังวลต่อความผันผวนของตลาดการเงินและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจทำให้เฟดขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้เพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปี จากก่อนนี้ที่ตลาดคาดว่าอาจขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้และเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งต่อไปที่ปี 2563
จากสถานการณ์ของสหรัฐฯ ทำให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่ตลาดเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะไทยที่มีสถานะการเงินต่างประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อต่ำ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลสูง และสัดส่วนหนี้สินในรูปเงินสกุลต่างประเทศต่ำ จะทำให้เงินบาทผันผวนแข็งค่าใกล้ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2562
ทั้งนี้ เมื่อปัจจัยด้านฤดูกาลท่องเที่ยวผ่านพ้นไป คาดว่าเงินบาทจะมีการปรับฐานไปในทิศทางอ่อนค่า โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากฤดูกาลจ่ายเงินปันผลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในช่วงกลางปี อาจทำให้มีเงินทุนไหลกลับจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ และอีกส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้นักลงทุนหันไปถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น โดยประเมินว่าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มยืดเยื้อไปจนถึงช่วงปลายปี ทำให้นโยบายกีดกันการค้าที่ทั้งสองฝ่ายกำลังบังคับใช้ระหว่างกันดำเนินต่อไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการค้าโลก การส่งออกไทย รวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีนที่จะส่งผลกระทบให้จำนวนนักท่องเที่ยวของจีนที่เดินทางมายังประเทศไทยชะลอลง อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทยจำเป็นต้องชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อน
นอกจากนี้ สหราชอาณาจักรยังมีความเสี่ยงที่จะต้องออกจากยุโรปโดยไม่มีข้อตกลงนั้นจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจของทั้ง สหราชอาณาจักรและยูโรโซน อีกทั้งสถานการณ์การเมืองไทยในช่วงหลังการเลือกตั้งยังมีความไม่แน่นอนในด้านความต่อเนื่องของนโยบาย ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันให้เงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ ช่วงสิ้นปี
แม้ในปี 2561 เงินบาทจะมีความผันผวนโดยเฉลี่ยมากกว่าในปี 2560 และปรับตัวแข็งค่าเป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากเงินเยนญี่ปุ่น แต่สัดส่วนการป้องกันความเสี่ยง (Hedging Ratio) ของผู้ประกอบการไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจาก ปี 2560 มากนัก อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังควรเตรียมรองรับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในปีนี้ ท่ามกลางปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ธนาคารกสิกรไทยพร้อมให้การสนับสนุนลูกค้าเกี่ยวกับข้อมูลตลาดเงินและทิศทางเศรษฐกิจ ช่วยวิเคราะห์ผลกระทบของค่าเงินต่อกิจการ และแนะนำเครื่องมือการบริหารความเสี่ยงที่เหมาะสม รวมถึง พร้อมให้บริการให้คำปรึกษาในการชำระและรับชำระเป็นสกุลเงินท้องถิ่นสำหรับ AEC + 3 (Asean + จีน เกาหลี และญี่ปุ่น) ซึ่งช่วยให้ผู้ประกอบการลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน รวมถึงสามารถขยายฐานการตลาดได้กว้างขึ้น
นอกจากนี้ สำหรับลูกค้าที่จะไปลงทุนต่างประเทศ ธนาคารพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับกฎเกณฑ์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนในแต่ละประเทศที่เกี่ยวข้องด้วย