กกร.คาดจีดีพีปี 61 โต 4.1% ห่วงเงินบาทแข็งกดส่งออกปีนี้

กกร.สรุปเศรษฐกิจโตน้อยกว่าคาดที่ 4.3% หลังจากส่งออกรูดลงในไตรมาส 4 แนวโน้มในปีนี้จีดีพีโตไม่ต่ำกว่า 4% ห่วงเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องกระทบส่งออก ส่วนศูนย์พยากรณ์ฯม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นดีขึ้นทุกตัวในเดือนม.ค.

คณะกรรมการ่วมภาคเอกชน (กกร.) ประเมินเศรษฐกิจไทยในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 4.1% จากเดิมที่คาดจะขยายตัว 4.3% หลังจากไตรมาส 4 ได้รับผลกระทบจากการส่งออก และการลงทุนภาครัฐลดลง

ส่วนแนวโน้มในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในกรอบประมาณการของ กกร. ที่ 4.0-4.3% ได้รับแรงหนุนจากการบริโภค ภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังรักษาระดับการเติบโตไว้ได้ดี

อย่างไรก็ตามกกร.มีความเป็นห่วงเรื่องเงินบาทที่ยังมีแนวโน้มแข็งค่าในช่วงครึ่งปีแรก จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการส่งออกในปี 2562 ด้วย นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 1ก.พ.เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.4% แข็งค่ามากสุดเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาค เป็นรองเพียงค่าเงินรูเปียะห์อินโดนีเซียที่แข็งค่าขึ้น 3.7%

สำหรับประเด็นเรื่องสงครามการค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลง คาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกในปี 2562 อาจขยายตัวชะลอลงมาอยู่ในกรอบประมาณการ กกร. ที่ 5-7% เทียบกับที่ขยายตัว 6.7% ในปี 2561

เรื่องการท่องเที่ยวคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเติบโตในอัตราที่ใกล้เคียงกับในปี 2561 ที่ 7.5% ตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในตลาดสำคัญ

ทางด้านศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ในเดือน ม.ค.62 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค อยู่ที่ 80.7 จาก 79.4 ในเดือน ธ.ค.61 ดัชนีดีขึ้นในรอบ 5 เดือน เป็นผลจากความชัดเจนในการจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2562

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม อยู่ที่ 67.7 จาก 66.3 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 75.8 จาก 74.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 98.7 จาก 97.3

สำหรับปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ได้แก่ ความชัดเจนในวันเลือกตั้ง สศค.คาดว่าเศรษฐกิจปีนี้มีแนวโน้มขยายตัว 4.0% สงครามการค้าเริ่มคลี่คลาย นักท่องเที่ยวจีนเริ่มกลับเข้ามาในประเทศไทย พืชผลทางการเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะข้าว ดัชนีหุ้นในเดือน ม.ค.เพิ่มขึ้น 77.85 จุด

ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่การส่งออกเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมามีมูลค่า 19,381.35 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 1.72% ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้น ความกังวลต่อสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ผู้บริโภคมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและยังกระจุกตัว