“ทีทีซีแอล”ลั่นปีนี้ทยอยรับรู้รายได้จากงานที่ประมูลได้ 1.6 หมื่นล้านในปีก่อน ยังมีงานใหม่ที่เข้าประมูล 4.65 หมื่นล้านบาท คาดหวังประมาณ 1 ใน 3 เตรียมนำบริษัทย่อยจากสิงคโปร์ เข้าตลาดหุ้นไทย ยื่นไฟลิ่งไตรมาส 2 รอให้ได้ PPA จากเมียนมาก่อน
นายบุณยกฤต เสาวรรณ ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ทีทีซีแอล (TTCL) คาดว่ารายได้ในปีนี้จะโตประมาณ 10-15% จากปีก่อน มาจากงานที่ประมูลได้ในปี 2661 ประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท จำนวน 13 โครงการที่จะทยอยรับรู้ในปีนี้บางส่วน โดยมีโครงการใหญ่ๆ เช่น งานปิโตรคอมเพล็กซ์ ที่ Long Son ในเวียดนามของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีมูลค่าโครงการประมาณ 6.8 พันล้านบาท จะรับรู้รายได้ปีนี้ 20-25% และยังมีโครงการโรงงานปิโตรเคมี MOCD2 Project จังหวัดระยอง มูลค่าโครงการประมาณ 4.6 พันล้านบาท จะรับรู้รายได้ปีนี้ 60-65% เป็นต้น
“ในปี 2561 บริษัทได้งานเข้ามาประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปี 2560 ที่ได้งานประมาณ 8 พันล้านบาท โดยมี 2-3 โครงการที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่จะเริ่มทยอยรับรู้รายได้ในปี 2562 นี้”ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ TTCL กล่าว
นอกจากนี้ บริษัทยังได้เข้าประมูลงานใหม่จนถึงต้นปีนี้มีมูลค่ารวม 46,500 ล้านบาท คาดหวังว่าจะได้ประมาณ 1 ใน 3 ของมูลค่าที่เข้าประมูล หรือประมาณ 15,500 ล้านบาท เช่นโครงการ
ปิโตรคอมเพล็กซ์ในต่างประเทศ มีมูลค่า 7.5 พันล้านบาท ที่ได้ร่วมกับ Sojitz Corporation ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทเข้าประมูล ส่วนอีก 8 พันล้านบาท จะเป็นงานในประเทศ คาดว่างานใหม่บางส่วนจะรับรู้รายได้ในปีนี้
ส่วนแผนการนำบริษัท ทีทีซีแอล พาวเวอร์ โฮลดิ้ง เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ นายบุณยกฤต กล่าวว่า จะยื่นแบบไฟลิ่งต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในไตรมาส 2 นี้ ขณะนี้ได้แต่งตั้งให้บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง(ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินแล้ว ทีทีซีแอล พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จดทะเบียนจัดตั้งอยู่ในประเทศสิงคโปร์ ดังนั้นหากเข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย ก็จะเป็นลักษณะไพรมารี่ ลิสติ้ง คาดว่าหุ้นจะเข้าซื้อขายได้ประมาณปลายปีนี้ หรือต้นปีหน้า
“เราคาดว่าโรงไฟฟ้าโครงการ Ahlone ขนาดกว่า 300 เมกะวัตต์ในเมียนมาจะได้สัญญา PPA ประมาณไตรมาส 2 ปีนี้ ดังนั้นเราจึงต้องการให้ได้ PPA ก่อนจึงค่อยยื่นไฟลิ่ง จะทำให้มูลค่าหุ้นดีขึ้น นอกจากแผนนำหุ้นเข้าตลาดแล้ว บริษัทก็เปิดกว้างแผนที่จะมีพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นด้วย เพราะเชื่อว่าหากได้ PPA แล้วจะมีผู้สนใจมาก หากได้พันธมิตรก็อาจจะไม่ต้องเข้าจดทะเบียนก็ได้ แต่ขณะนี้การนำหุ้นเข้าตลาดยังถือเป็นตัวเลือกแรกอยู่”
สำหรับโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าที่เมียนมา แหล่งเงินทุนจะมาจากเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO รวมถึงจะมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง โดยจะมีสัดส่วนเงินทุน 30% และเป็นการกู้ยืม 70%