“เกียรตินาคินภัทร” ตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โต 8% ยอมลดสัดส่วนสินเชื่อดอกเบี้ยดีแต่เสี่ยงสูง ฉุดส่วนต่างดอกเบี้ยเหลือ 4.5-4.7% เพิ่มคุณภาพสินเชื่อช่วงเศรษฐกิจผันผวน เดินหน้ารุกธุรกิจ Private Bank เตรียมเปิดบริการใหม่พาลูกค้าลงทุนตรงต่างประเทศ
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ในปี 2562 ตั้งเป้าหมายขยายสินเชื่อ 8% โดยเน้นขยายเฉพาะสินเชื่อกลุ่มที่ให้ผลกำไรเหมาะสมมากกว่าการเพิ่มยอดสินเชื่อโดยทั่วไป ซึ่งทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยลดลงเหลือประมาณ 4.5-4.7% จาก 5% ปี 2561 และลดลงต่อเนื่องจาก 5.2% ในปี 2560
“การปล่อยสินเชื่อเรายังคงระมัดระวัง เพราะการปล่อยสินเชื่อที่ได้ดอกเบี้ยสูงและมีความเสี่ยงสูง (High-Yield Loans) ในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวนอาจจะไม่เหมาะ เช่น สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มเห็นสัญญาณไม่ค่อยดี ดังนั้นเม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่มีมาตรการออกมาควบคุม เราก็ต้องระมัดระวัง ขณะที่สินเชื่อที่มีความเสี่ยงต่ำยังสามารถเติบโตได้ตามการขยายการลงทุนของลูกค้า” นายอภินันท์ กล่าว
นอกจากนี้ นายอภินันท์ กล่าวอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่ ธปท. มีมาตรการมาดูแลสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ หากเห็นความไม่เหมาะสมในอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยสินเชื่อที่เกินศักยภาพของลูกหนี้ และเกิดมูลค่าที่แท้จริงของหลักประกัน โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากการกระตุ้นยอดขายของตัวแทนขายรถยนต์ เช่น ซื้อรถโดยไม่ต้องมีเงินดาวน์ รวมทั้งการแข่งขันของสถาบันการเงิน
“จากที่เคยต้องมีเงินดาวน์ 20% ของเรารถยนต์ ก็เหลือ 5% หรือ บางทีซื้อรถแถมเงินก็มี ถ้าทุกคนหลับหูหลับตาปล่อยสินเชื่อไปโดยไม่รับรู้แบบนี้ก็จำเป็นต้องมีมาตรการออกมาควบคุม” นายอภินันท์ กล่าว
สำหรับสินเชื่อลูกค้ารายใหญ่ นายอภินันท์ กล่าวว่า KKP จะไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ 3-4 รายแรกของประเทศ แต่จะเน้นไปที่บริษัทขนาดเล็กลงมา โดยอยู่ในดัชนี SET100
นายอภินันท์ กล่าวถึงธุรกิจ Private Bank ซึ่ง ณ สิ้นปี 2561 กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มียอดสินทรัพย์ภายใต้การให้คำแนะนำ (AUA) รวมเงินฝากของธนาคาร และมูลค่าสินทรัพย์สุทธิของ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บลจ.ภัทร มากกว่า 6.5 แสนล้านบาท โดยมีเม็ดเงินใหม่เข้ามา 5.8 หมื่นล้านบาท
“นอกจากจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่หลากหลาย และซับซ้อน เพื่อตอบโจทย์ลงทุนที่หลากหลายแล้ว เร็วๆ นี้ ธุรกิจ Private Bank จะมีบริการใหม่ เช่น บริการการลงทุนตรงในต่างประเทศ การลงทุน Private Markets สินเชื่อเพื่อการลงทุนชนิดพิเศษ Lombard Loan และ PPF (Portfolio for Property Finance) บัญชีเงินฝากเพื่อการลงทุนที่ให้ดอกเบี้ยสูง KK Phatra Smart Settlement
“ลูกค้าสามารถไปลงทุนกองทุนของ บลจ.ชั้นนำของโลก 6-7 รายโดยตรง ไม่ต้องผ่าน FIF รวมถึงการลงทุนใน Structured Notes ของวานิชธนกิจต่างประเทศอีก 5-6 ราย โดยมีที่ปรึกษาดูแลอย่างใกล้ชิด” นายอภินันท์ กล่าว
ทางด้าน บลจ.ภัทร จะยังคงพัฒนาผลงานการบริหารกองทุนให้อยู่ในกลุ่มผู้นำอุตสาหกรรม การเพิ่มสัดส่วนกองทุนที่มีความซับซ้อนแต่ให้ผลตอบแทนสูง ควบคู่ไปกับการพัฒนาช่องทางการขายใหม่ให้มีประสิทธิภาพ โดยในปี 2561 แม้ว่า บลจ.ภัทร ไม่ได้เติบโตมากนักในแง่ของ AUM เนื่องจากภาวะตลาดที่มีความผันผวน แต่สามารถสร้างรายได้ 800 ล้านบาท เติบโตขึ้นถึง 50%
ธุรกิจ Wholesale & Investment Bank ปี 2561 มีรายได้ 822 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจาก บล.ภัทร ได้มีโอกาสเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่สำคัญระดับประเทศทั้งจากการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและทำรายการระดมทุนในตลาดทุน เช่น โครงการกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ ฟันด์ (TFFIF) หรือการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรกของ บริษัท โอสถสภา (OSP) และ โรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9)
“ปีนี้มีลูกค้าที่อยู่ในกระบวนการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นสิบราย รวมถึง บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) แต่ในครึ่งปีแรกจะยังไม่มีรายใดเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป (IPO) เพราะการ IPO ต้องพิจารณาปัจจัยหลายอย่าง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะภาวะตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าเราทำ IPO ลูกค้าจะรู้เลยว่า เรามีการกำหนดราคาที่เหมาะสม ดังนั้นช่วงแรกหลังจากเข้าตลาดฯ แล้วราคาจะไม่เปลี่ยนแปลงมาก” นายอภินันท์ กล่าว
นายปรีชา เตชรุ่งชัยกุล ประธานสายตลาดการเงิน และรักษาการประธานสายการเงินและงบประมาณ ธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) กล่าวว่า ในปี 2561 สินเชื่อของธนาคารเพิ่มขึ้น 18.5% เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2560 ซึ่งเป็นอัตราการเตบโตสูงสุดในอุตสาหกรรม โดยมาจากสินเชื่อในทุกประเภท
ขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPL) ปี 2561 ลดเหลือ 4.1% จาก 5% ณ สิ้นปี 2560
ทางด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรหลังหักเงินปันผลจ่ายครึ่งแรกของปี 2561 อยู่ที่ 16.29% เป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 12.49% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 4/2561 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 17.46% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 13.65%